คอลัมน์ ออกจากกรอบ : ฮักเชิล คิม

หนังสือพิมพ์ข่าวสด

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติประจำประเทศเกาหลีใต้ ได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำทางการศึกษา มีผู้เข้าร่วมเป็นอธิการบดี คณบดี และผู้อำนวยการโรงเรียนจากทั่วโลก โดยมีตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วม สามท่านด้วยกัน และในฐานะที่ผมพูดภาษาไทยได้ ผมจึงได้รับหน้าที่ให้รับรองท่านทั้งสามตลอดระยะเวลาการร่วมกิจกรรม

ในวันที่ 3 ของโปรแกรม ได้มีการทัศนศึกษาที่หมู่บ้านชองโด จุดกำเนิดของโครงการที่มีชื่อเสียงอย่าง “โครงการสร้างหมู่บ้านใหม่” (New Village Movement) เริ่มดำเนินการเมื่อปี 1970 ซึ่งก็ผ่านมาประมาณ 50 ปีแล้ว โครงการนี้ทำให้ประเทศเกาหลีใต้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

จอมพลดักลาส แมกอาร์เธอร์

ปี 1950 เกิดสงครามเกาหลี ซึ่งเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่ทำลายทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไหนๆ ก็โดนไฟเผาวอดวาย ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ หลงเหลืออยู่เลย เป็นสภาพที่ทรุดโทรมมากถึงขนาดที่จอมพลดักลาส แมกอาร์เธอร์ วีรบุรุษผู้พิชิตแปซิฟิกแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 พูดไว้หลังประเมินสภาพเมืองว่า “ประเทศนี้ไม่มีทางฟื้นฟูได้ แม้จะผ่านไปนาน 100 ปีก็ตาม”

ผมเกิดปี 1960 หลังจากสงครามเกาหลี 10 ปี ตอนนั้นผมจำได้เป็นอย่างดีถึงการที่อยู่อย่างอดๆ อยากๆ มีซากหมู่บ้านร้างเต็มไปหมด บ้านที่อยู่ตอนนั้นก็ทำจากดิน ตอนเด็กๆ ผมจะออกไปทำนา เมื่อในหมู่บ้านไม่มีบ่อน้ำ จึงต้องไปตักน้ำจากห้วยหรือลำธารที่ห่างไกลออกไป

ซ้ำร้ายหลังจากนั้น 19 ปี (1969) เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ฝนตกหนักตลอด 2 เดือน ทำให้พื้นที่ทั้งประเทศได้รับความเสียหายอีกครั้ง มีผู้เสียชีวิต สูญหาย และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร ถนน รางรถไฟ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ

 

ในตอนนั้นประธานาธิบดี ปาร์ค จองฮี ออกสำรวจทั่วประเทศ เพื่อแก้ไขจัดการปัญหาน้ำท่วมพร้อมหาแนวทางการฟื้นฟูหมู่บ้าน เส้นทางการสำรวจเริ่มจากรุงโซล ผ่านเทกู ไปถึงปูซาน หมู่บ้านที่ผ่านต่างดูทรุดโทรม รกร้าง เหมือนไม่มีคนอยู่ สภาพแวดล้อมดูย่ำแย่ ผู้คนล้มตาย จนกระทั่งเดินทางมาถึงหมู่บ้าน “ชองโด” กลับเห็นผู้คนแห่กันออกมาร่วมแรงร่วมใจพัฒนา ฟื้นฟูหมู่บ้านของตน ประธานาธิบดีสงสัยเป็นอย่างมากว่าทำไมหมู่บ้านนี้ถึงได้แตกต่างจากที่อื่น ผู้ใหญ่บ้านจึงรายงานว่า “ไหนๆ น้ำก็ท่วมแล้ว หมู่บ้านเละเทะหมดแล้ว จะทำใหม่ทั้งที ก็ทำให้สวยๆ ดูดีไปเลย”

ประธานาธิบดีได้ยินอย่างนั้นก็รู้สึกประทับใจ จึงเรียกประชุมรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ คิดหาแนวทางการเผยแพร่แนวคิดดังกล่าวให้กับหมู่บ้านอื่น โดยให้รางวัลผู้นำหมู่บ้าน เรียกมานำเสนอวิธีฟื้นฟูให้หมู่บ้านอื่นๆ ฟัง อีกทั้งยังได้จัดอบรม ฝึกฝน และสร้างกลุ่มผู้นำผู้ใหญ่บ้านขึ้นกว่าปีละ 6,000 คน

หลังจากนั้นก็มีโปสเตอร์รณรงค์ต่าง ๆ มากมาย อาทิ
“ภายในปี 1981 เราจะทะลุเป้า 1,000 ดอลล่าร์ ต่อหัวต่อปี”
“คนทำงานเท่านั้นถึงจะมีความสุขและมีชีวิตชีวา”
“หนูอ้วนขึ้นทุกวัน แต่คนกลับอดตาย”

ผมจำได้ดีว่าตอนนั้นการบ้านของพวกผมคือการ “ไปตัดหางหนูมาส่งคุณครู” หมายความว่าพวกเราต้องกำจัดหนูเพื่อส่งการบ้าน ถ้านักเรียนในโรงเรียนแต่ละคนจับหนูคนละ 1 ตัวต่อวัน เราก็จะกำจัดหนูไปได้เยอะ คือลำบากมากขนาดที่ว่า แค่ให้หนูกินเม็ดข้าวหนึ่งเม็ดก็รู้สึกเสียดาย

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงก็คือการมี Mindset (จิตใจ) ที่ถูกต้อง ดังตัวอย่างที่ผมได้ยกมาข้างต้น เห็นได้ว่าความคิดของผู้ใหญ่บ้านชองโดแตกต่างจากคนอื่น ได้เปลี่ยนความสิ้นหวังให้กลายเป็นความหวัง และขับเคลื่อนจิตใจสมาชิกชุมชนให้เปลี่ยนแปลง หลังจากประธานาธิบดีมาเห็น ก็ได้นำ Mindset (จิตใจ) นี้ไปเผยแพร่ให้คนมากมาย ทำให้ต่างคนต่างรวมจิตใจ และเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ แพร่ขยายนำไปใช้กับเขต จังหวัด ทุกภาคส่วนในสังคม จนกระทั่งพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 60 ปี มีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ประมาณ 30,000 ดอลลาร์ จัดอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และปัจจุบันนี้ทาองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ก็ได้นำโครงการสร้างหมู่บ้านใหม่มาเป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนากว่า 74 ประเทศทั่วโลก

การมี Mindset (จิตใจ) ที่ดีจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สิ่งสำคัญ เพราะจิตใจของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เปลี่ยน ไม่ยอมแพ้ต่อความยากลำบาก และก้าวเดินออกไปด้วยใจเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

Mindset (จิตใจ) เปลี่ยน
คุณเปลี่ยน คนรอบข้างเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน


ดร.(กิตติมศักดิ์) ฮักเชิล คิม
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ ประจำประเทศไทย
FB : Mind World by Kim Hak Cheol, Ph.D.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน