วิกฤตเศรษฐกิจ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

วิกฤตเศรษฐกิจ – ไม่ว่าจะเลือกใช้คำว่าวิกฤต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเป็นเพียง “การถดถอย” อย่างที่ผู้บริหารในรัฐบาลพยายามยืนยัน

แต่ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นส่วนรวมหรือด้วยปัญหาปากท้องของประชาชนในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง และต้องการมาตรการเยียวยา-แก้ไขอย่างเร่งด่วน

ความเป็นจริงที่ว่านี้พิสูจน์ได้จาก การที่แม้รัฐบาลจะไม่ยอมรับคำว่าเศรษฐกิจตกต่ำหรือวิกฤต แต่กลับอัดฉีดเงินออกมาเพื่อประคับประคองสถานการณ์เป็นจำนวนมโหฬารถึง 300,000 ล้านบาท

ถ้าเศรษฐกิจยังปกติ จะต้องอัดฉีดมหาศาลเช่นนี้ทำไม

ในด้านหนึ่ง ก็ต้องเอาใจช่วยและให้การสนับสนุนให้มาตรการพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และการบรรเทาความทุกข์ยากเรื่องการกินอยู่ของประชาชน ให้เดินหน้าต่อไปได้

แต่ในขณะเดียวกัน การวิพากษ์วิจารณ์และชี้จุดอ่อนเพื่อให้เกิดการปรับปรุงนโยบายให้มีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้ก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลตัดสินใจใช้เงินงบประมาณ อันมีที่มาจากภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาลเช่นนี้

แล้วถามว่า จุดอ่อนหรือสิ่งที่ควรปรับปรุงของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นมีอะไร

ผู้รู้และนักวิชาการหลายท่านชี้ประเด็นเอาไว้ก็คือ

มาตรการที่ออกมา ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่ม อันจะเป็นการปรับโครงสร้างและแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมในระยะยาว

แต่กลายเป็นมาตรการที่เพิ่มความมั่งคั่งให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ อันมีตัวเลขยืนยันได้จากฐานส่วนตัวและกำไรของผลประกอบการทางธุรกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา

การเปิดพื้นที่หรือสร้างโอกาสให้กับ “รากหญ้า” ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

และการพยุงฐานะหรือสร้างโอกาสให้คนส่วนใหญ่ “เงิน” มิใช่ปัจจัยเดียว แต่จะต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ

โดยเฉพาะการทำให้กฎกติกาในการแข่งขันหรือการเข้าถึงทรัพยากรมีความเท่าเทียมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน