หนี้กยศ.

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หนี้กยศ.ปัญหาหนี้สินช่วงภาวะเศรษฐกิจซึมลึกช่วงนี้น่าวิตก เพราะลูกหนี้ไม่มีเงินจ่ายคืน ส่วนเจ้าหนี้ยังคงต้องการเงินคืน

กรณีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เพิ่งออกข่าวเร็วๆ นี้ว่า ภาพรวมการชำระหนี้ปีนี้ยังทำได้ดี ยอดรวม 11 เดือน มีการชำระหนี้เข้ามาแล้ว 29,700 ล้านบาท และเมื่อครบทั้งปีน่าจะทะลุ 30,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีกองทุน

เป็นเพราะการใช้มาตรการหักหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ได้แล้ว 4 แสนราย คิดเป็นวงเงิน 420 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 3,000 ล้านบาทต่อปี

ประเมินด้วยว่า ปี 2563 จะหักเงินเดือนได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาทต่อปี และทำให้มียอดชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 32,000 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับกยศ. แต่อาจไม่สะท้อนสถานการณ์เศรษฐกิจได้ทั้งหมด

กยศ.เองระบุถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวด้วยว่า มีผลทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้

ลูกหนี้กลุ่มที่ยังไม่ชำระหนี้ จะต้องถูกกยศ.ฟ้องเพิ่มเติมในปี 2562 อีกกว่า 150,000-200,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระกับ กยศ.มากกว่า 4 ปี เป็นอัตราการฟ้องร้องดังกล่าวใกล้เคียงกับปี 2561

พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแม้จะอยู่ในกระบวนการฟ้องดำเนินคดี แต่กยศ.พร้อมเปิดให้ลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้อยู่

สําหรับนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.กำหนดว่า กลุ่มที่ถูกฟ้องดำเนินคดีและมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ให้กยศ.เป็นรายเดือน จำนวน 1.6 ล้านราย แต่ละรายมีหนี้ประมาณ 1.2 แสนบาท จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้จะหมดอายุความภายใน 2 ปี

นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยน้ำท่วมให้ขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ช่วง ช่วงละไม่เกิน 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 2 ปี

ช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงยกเว้นเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน

มาตรการช่วยเหลือนี้จะมีผลในเวลาชั่วคราวที่กำหนด แต่การใช้ชีวิตของประชาชนยังคงต้องลุ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน