13 ปีรัฐประหาร’49 พอหรือยัง

13 ปีรัฐประหาร’49 พอหรือยัง – หมายเหตุ : ชมรมสมัชชาสิงห์ดำ และสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน จัดงานเสวนา “13 ปี รัฐประหาร’49 ก้าวพ้นหรือย่ำวนในวงจรของทรราชย์?” พอหรือยังกับรัฐประหาร? พอหรือยังกับผู้นำเผด็จการ? นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และ นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อ.คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร ที่ห้องประชุม 14 ตุลา วันที่ 28 ก.ย.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

การรัฐประหารปี 2549 นอกจากเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งแล้ว อาจมาจากนักวิชาการและปัญญาชนที่ไม่มั่นคงในการสร้างระบอบประชาธิปไตย แต่เข้ามามีอำนาจเร็วแล้วออกเร็ว แสดงถึงความยังไม่พร้อมขึ้นสู่อำนาจ

ต่างจากการรัฐประหารปี 2557 มีรัฐบาลคสช. 5 ปี เป็นรัฐบาลรวมดาวของผบ.ทบ. ที่รอคอยเวลามาเป็นผู้นำเพื่อเสวยสุขร่วมกัน จึงอยู่ยาวอยู่นาน รวมทั้งการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา แสดงถึงการรักษาอำนาจของผู้รัฐประหาร ซึ่งเป็นไปตามแผนของผู้ที่กำหนดเกมไว้

แต่ก็มีปัจจัยใหม่เกิดขึ้นจากพรรคการเมืองของคนหนุ่มสาว ซึ่งอยู่นอกการคาดการณ์ที่เขาจะล้มใครคนหนึ่ง แต่กลับมีกลุ่มพลังใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่ม การรัฐประหารโดยทหารปี 2549 และปี 2557 จึงเป็นการรัฐประหารคู่โดยความตั้งใจของทหาร

รัฐประหารเป็นนิสัยที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ใช่เหตุบังเอิญ หรืออุบัติเหตุทางการเมือง แต่เป็นพฤติกรรมทางการเมืองที่ต้องการรักษาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอภิสิทธิ์ของชนชั้นนำ

ดังนั้นรัฐประหารตลอด 87 ปี คือการรักษาอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ของชนชั้นนำ การรัฐประหารที่นำเสนอตัวเข้าสู่การเมือง เข้าสู่อำนาจของรัฐ โดยทหารที่อนุรักษนิยม ที่สร้างวาทกรรมว่าทหารไม่ใช่นักการเมือง แต่มาทำเพื่อชาติ นั่นคือเรากำลังถูกปลูกฝังอคติให้รังเกียจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกฝังให้ยอมรับการรัฐประหาร เห็นตัวอย่างการรัฐประหารที่สำเร็จมาก่อน เราอย่าตกหลุมพราง

และหากต้องการรักษาประชาธิปไตยต้องไม่ให้มีการรัฐประหาร ต่อให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามากี่ครั้ง เราก็ควรขีด(กากบาท)ให้กับฝ่ายประชาธิปไตย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

นับตั้งแต่ปี 2549 ที่มีการรัฐประหาร ประเทศเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งที่มาของเหตุการณ์ดังกล่าวอธิบายยาก เพราะสะท้อนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองและการเข้าสู่อำนาจของนายทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น คนที่จะเข้าไปค้นคว้าหรืออ่านงานที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องระวังถึงความเป็นกลางของผู้เขียนเหตุการณ์ต่างๆ ด้วย

แต่ความน่าสนใจคือบรรยากาศของการทำรัฐประหารในปี 2549 นั้น ที่มีมวลชนมากกว่าที่ผ่านมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองไทยในยุคใหม่ ท่ามกลางความซับซ้อนทางการเมืองมากขึ้น มีกลุ่มการเมืองทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มกปปส.

การรัฐประหารในปี 2549 ไม่ได้มีลักษณะสืบทอดอำนาจเหมือนการรัฐประหารในปี 2557 ที่ขณะนี้บทบาทของผู้ที่รัฐประหารยังไม่สิ้นสุด เห็นได้จากการที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอย่าให้การทำรัฐประหารปี 2557 เสียของ

แสดงให้เห็นว่าการทำรัฐประหารในปี 2549 ที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่พอใจของชนชั้นนำ และผู้ที่กระทำรัฐประหารในครั้งนั้น ทำให้ฟันธงได้ว่าการทำรัฐประหารปี’49ยังไม่สำเร็จ จึงไม่ต้องการให้ปี 2557 เสียของ

คำว่าเผด็จการมี 2 แบบคือการถูกทำลายโดยคนนอก คือทำรัฐประหาร และประชาธิปไตยเสื่อมคุณภาพ รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะดีแต่บางครั้งใช้จนล้นมาถนน เกิดคนเสื้อเหลือง ที่ทำให้ภาพของส.ส.และนักการเมืองถูกบีบจากสังคม ทั้งที่คนที่จะเข้าสู่อำนาจควรอดทนรอได้ ยอมรับความแตกต่างได้

แต่เมื่อดีจนอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ก็ต้องการแก้ และนับตั้งแต่หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้น มาจนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็หวังจะให้ พรรคประชาธิปัตย์เข้ามา แต่ไม่คิดว่าจะมีพรรค อนาคตใหม่

จนมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ ที่เชื่อว่าเขาคงไม่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เพราะจะเป็นการทำลายเกมที่ต้องการขัดขวางพรรคเพื่อไทย และหากยุบพรรคอนาคตใหม่ คนก็คงไม่ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ

และยังกลัวว่าคะแนนจะทิ้งไปให้พรรคเพื่อไทยและมีโอกาสได้คะแนนบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

บริบททางเศรษฐกิจ สังคม จากรัฐประหารที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประชากรระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาการรัฐประหารจะไม่สำเร็จถ้าสถาบันทหารไม่มีบทบาทในสังคม

ซึ่งการรัฐประหาร 2549 คือความพยายามของคนรุ่นเก่าที่ต้องการจะให้ตัวเองมีอำนาจ โดยการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มาจากภาคประชาชน ที่มีเรื่องของการกระจาย อำนาจบริหารไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ปกครองรุ่นเก่าที่มีอำนาจต้องถูกลดอำนาจลงจนไม่พอใจ และทำให้ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น

แต่คนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการให้แก้ไขสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นช่วงเวลา 13 ปี ของการรัฐประหาร 2549 ที่ทำสำเร็จและสมใจฝ่ายกองทัพรุ่นเก่าที่ยกเลิกรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน เพราะไม่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งทำให้ประชาชนได้มีอำนาจ มีสิทธิต่างๆ จากการกระจายอำนาจ ส่งผลให้เม็ดเงินลงไปในพื้นที่ต่างๆ

และเชื่อว่ายังมีความต้องการของทหารรุ่นใหม่ซึ่งยังมองไม่เห็นได้ในขณะนี้ ที่นำมาสู่การรัฐประหาร 2557 ที่ไม่ต้องการให้การเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกครั้งจากคนที่ไม่ได้ไปสู่อนาคต ต้องการเปลี่ยนกฎเกณฑ์เพื่อลดบทบาท แต่การไปทุบรัฐธรรมนูญแล้วทำใหม่แทนที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น และหากคิดยกเลิกทุกครั้ง ขอให้ดูที่อังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญและยังอยู่ได้เพราะมีการพูดคุยกัน โดยไม่ใช้การแก้ไขจนทำให้เราต้องเริ่มใหม่ตลอด

ขณะที่ประชาธิปไตยก็จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของคนรุ่นใหม่ มีการปรับกระบวนการยุติธรรม ให้มีหลักนิติรัฐ คือ อำนาจรัฐอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย จะลดคอร์รัปชั่นได้มากกว่าระบบการแต่งตั้งหรือรัฐประหาร

ดังนั้นการมีรัฐประหารบ่อยครั้งทำให้การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ยาก ความเหลื่อมล้ำยังมีในสังคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน