ยุติซ้ำเติม

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ยุติซ้ำเติม – การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของสมาชิกผู้แทนราษฎรต่อกรณีผู้พิพากษาศาลจังหวัดยะลายิงตัวเอง ว่าเป็นการจัดฉาก ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชี่ยลอย่างกว้างขวางตลอดสุดสัปดาห์ ที่ผ่านมา

เพราะการใช้ถ้อยคำกล่าวหาและเหยียดหยามนี้ มีความเสี่ยงต่อการซ้ำเติมเพิ่มความขัดแย้ง และความเกลียดชัง

ที่สำคัญคือลดทอนและบั่นทอนความเป็นเพื่อนมนุษย์และความมีเมตตาต่อกันของคนในสังคม

การนำความเดือดร้อนของผู้อื่นมา สร้างจุดสนใจหรือเรียกร้องการเป็นที่ยอมรับ เป็นเรื่องที่ผู้แทนของประชาชนต้องตระหนักได้ว่าไม่ควรกระทำ และไม่ควรสนับสนุน

กรณีเมื่อ 13 ปีก่อน ช่วงเดือนตุลาคม ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร 2549 ถูกวาทะเย้ยหยันถึงการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย หลังการขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังบาดเจ็บ

ถ้อยคำที่สื่อความหมายได้ว่าไม่มีใครยอมตาย เพื่ออุดมการณ์ ทำให้ลุงนวมทองสละชีวิตตนเอง ด้วยการก่ออัตวินิบาตกรรม พร้อมทิ้งข้อความที่ยืนยันการต่อสู้นั้น

กรณีนี้ไม่อาจย้อนเวลาหรือจำลองสถานการณ์ได้ว่า หากไม่มีคำพูดกระทบจิตใจดังกล่าว ลุงนวมทองจะยังคงเลือกเส้นทางนี้หรือไม่

แต่เป็นบทเรียนหรือตัวอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ไม่ควรทำให้ชีวิตผู้อื่นตกอยู่ในความเสี่ยงอันตราย เพราะคำพูดท้าทายหรือให้ร้ายกัน

แม้ว่าสังคมไทยตกอยู่ในบรรยากาศความ ขัดแย้งทางการเมืองมายาวนาน และยังไม่เข้าสู่กระบวนการปรองดองด้วยอุปสรรคจากการรัฐประหาร แต่การยึดมั่นคุณธรรม ศีลธรรม หรือจริยธรรมขั้นพื้นฐาน ไม่ควรถูกละเลยหรือมองข้ามเพื่อจะเอาชนะคะคานกัน

การพรากชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการ เมืองไทยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง และพิษที่ยังตกค้างจากนั้นมักเป็นถ้อยคำซ้ำเติม เย้ยหยัน รวมทั้งการกล่าวหาอย่างลอยๆ ไร้หลักฐาน

โศกนาฏกรรมที่คนพยายามฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือรอดชีวิต ล้วนไม่ใช่เรื่องต้องซ้ำเติม

สังคมที่มีความปรองดองและสามัคคี จะให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม และภราดรภาพ เสมอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน