สงกรานต์ที่ยุ่งเหยิง

บทบรรณาธิการ

ปีนี้ นางสงกรานต์ มีนามว่านางกาฬกิณีเทวีหรือนางกิริณีเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาทรงขอช้าง หัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังกุญชร

ทางโหราศาสตร์ระบุเกณฑ์ธาราธิคุณชื่ออาโป น้ำมาก ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม แต่ปลายปีมาก ส่วนเกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในไร่นาจะเกิดกิมิชาติ คือมีด้วงแมลงรบกวน ได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน

ส่วนบ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม พยากรณ์ว่าจะฆ่าฟันกัน จะนิราศจากกัน ฉิบหายเป็น อันมาก

ฟังดูน่ากลัว และหดหู่ใจอย่างยิ่ง

ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์เมื่อปี 2559 ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) สรุปอุบัติเหตุทั่วประเทศเกิดขึ้นรวม 3,447 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 442 ราย และบาดเจ็บ 3,656 ราย

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและนครราชสีมาแห่งละ 19 ราย พิจิตร 17 ราย กาญจนบุรี เชียงใหม่ และอุดรธานี 15 รายเท่ากัน








Advertisement

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ขับรถเร็วเกินกำหนด และตัดหน้ากระชั้นชิด สำหรับยวดยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุดอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นรถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนถนนทางเส้นตรง

เป็นความเสียหายที่เพิ่มสูงกว่าปีก่อนทุกด้าน

สงกรานต์ปีระกาปีนี้ เริ่มต้นก็ยุ่งเหยิง รัฐบาลพยายามจะงัดมาตรการที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขับขี่ การใช้ยวดยาน การขนส่ง และการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ผู้ขับขี่ หวังลดอัตราการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ให้ซ้ำรอยกับปีที่ผ่านๆ มา

มีการใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งห้ามนั่งกระบะท้ายและแค็บจนถูกต่อต้านไปทั้งประเทศ สุดท้ายก็ยอมผ่อนปรน กำหนดให้ท้ายกระบะนั่งได้ไม่เกิน 6 คนเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นจริง และสร้างความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตประชาชน

นอกจากนี้ คำสั่งนี้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ใช้ดุลพินิจไม่ตรงกัน นำไปสู่การจับปรับ กลายเป็นปัญหาร้องเรียน บางแห่งถือโอกาสเรียกรับสินบนก็ไม่น้อย สร้างความเดือดร้อนอีกทาง

สมควรจะหาบทสรุปว่าจะเดินหน้าต่อหรือยกเลิก และหามาตรการที่เหมาะสมมากกว่านี้หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน