คอลัมน์ รายงานพิเศษ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะนำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งเนื้อหาที่กรธ.ปรับปรุงล่าสุดมีทั้งสิ้น 4 หมวด และบทเฉพาะกาล รวม 78 มาตรา

โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระบุว่า หลักการใหญ่ยังเป็นแบบเดิม เพียงแต่มีการเกลาถ้อยคำเท่านั้น

สําหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต. สาระสำคัญ มีดังนี้

มาตรา 6 กกต.ต้องให้ความร่วมมือช่วยเหลือองค์กรอิสระทุกองค์กร ในกรณีที่กกต.เห็นว่า มีการทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม ผิดกฎหมาย และเข้าลักษณะความผิดเกี่ยวกับองค์กรอิสระอื่น ให้กกต.ปรึกษาหน่วยงานอื่นเพื่อกำหนดแนวทางทำงานร่วมกัน ไม่ซ้ำซ้อน ประธานกกต.มีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาประชุมหารือร่วมกันได้ องค์กรอิสระอื่นต้องทำตาม

มาตรา 11 คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน เป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4) บุคคลจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่มิใช่กกต. ซึ่งไม่เคยทำหน้าที่ในหน่วยงานนั้น องค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ โดยให้แต่ละองค์กรสรรหาภายใน 15 วันนับจากรับแจ้งจากเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา

ผู้ได้รับคัดเลือกตาม (4) จะต้องได้รับคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระ กรณีไม่มีใครเกินกึ่งหนึ่งให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้ง และหากผู้รับคัดเลือกมีเกิน 2 คน ให้นำเฉพาะคนที่ได้คะแนนสูงสุดสองลำดับ มาลงคะแนนใหม่ หากคะแนนสูงสุดเท่ากันหลายคนให้จับสลากเหลือ 2 คน การลงคะแนนครั้งนี้หากยังไม่มีใครได้เกินกึ่งหนึ่ง ให้คัดเลือกใหม่ และจะคัดเลือกผู้รับคัดเลือกจากครั้งแรกไม่ได้

ถ้ากรรมการสรรหาตาม (2) และ (4) มีไม่ครบ หรือเสนอชื่อไม่ได้ตามกำหนดเวลา ให้คณะกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปพลาง ให้ถือว่าคณะกรรมการสรรหามีเท่าที่มีอยู่

กรรมการสรรหาตาม (4) จะเป็นกรรมการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่นพร้อมกันไม่ได้ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาทั้งหมดเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 12 นอกจากประกาศรับสมัคร เข้ารับสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นแล้ว คณะกรรมการสรรหาสามารถคัดเลือกจากบุคคลทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น โดยคำนึงถึงความหลากหลาย และประสบการณ์ในแต่ละด้าน ให้กรรมการสรรหาใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้สมัครหรือให้ ผู้สมัครแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม ประกอบการพิจารณาด้วย และให้นำกระบวนการ ดังกล่าว มาใช้แก่การคัดเลือกกรรมการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาด้วย

การสรรหาให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย ผู้ได้รับการสรรหาต้องได้คะแนนเสียงถึง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของคณะกรรมการสรรหา ส่วนผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาและผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ถ้าไม่มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงถึงตามที่กำหนด หรือยังได้บุคคลไม่ครบจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้มีการลงคะแนนใหม่ หากยังไม่ได้บุคคลไม่ครบตามจำนวนที่ต้องการสรรหา ให้ดำเนินการสรรหาใหม่ตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบนี้ จะเข้ารับการสรรหาใหม่ไม่ได้

เมื่อคัดเลือกได้บุคคลใดแล้วให้เสนอชื่อไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวุฒิสภาเห็นชอบแล้ว หากประธานกรรมการองค์กรอิสระหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งด้วย ให้ผู้ได้รับความเห็นชอบประชุมร่วมกับกรรมการซึ่งยังไม่พ้นตำแหน่ง เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานแล้วแจ้งต่อประธานวุฒิสภา

กรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบยังได้ไม่ครบจำนวนที่ต้องการสรรหา แต่เมื่อร่วมกับกรรมการที่ยังอยู่ มีจำนวนถึง 5 คน ก็ให้ประชุมเพื่อเลือกประธานกรรมการได้ และเมื่อโปรดเกล้าฯ แล้ว ให้คณะกรรมการทำตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยจำนวนเท่าที่มีอยู่ แล้วให้ดำเนินการสรรหาให้ได้ครบตามจำนวนที่ต้องการโดยเร็ว สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา จะเข้ารับการสรรหาครั้งใหม่ไม่ได้

มาตรา 14 กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาในการวินิจฉัย และคำวินิจฉัยถือว่าเป็นที่สุด

มาตรา 15 กกต.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี เป็นได้เพียง วาระเดียว

มาตรา 16 คณะกรรมการสรรหามีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยปัญหาการพ้นจากตำแหน่งของกกต. ตามคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่กำหนดไว้ คำวินิจฉัยให้ถือเป็นที่สุด ระหว่างที่ยังไม่แต่งตั้งกกต.แทนตำแหน่งว่าง ให้กกต.ที่เหลือทำหน้าที่ได้

การประชุมของกกต.ต้องมีไม่น้อยกว่า 5 คน จึงเป็นองค์ประชุม แต่หากกกต.เหลือไม่ถึง 4 คน ให้ทำได้เฉพาะที่จำเป็น กรณีกกต.พ้นจากตำแหน่งเพราะครบวาระ ให้สรรหาภายใน 120 วัน นับจากครบวาระ แต่ถ้าพ้นเพราะเหตุอื่นให้สรรหาให้แล้วเสร็จภายใน 180 นับแต่วันที่ตำแหน่งว่าง

มาตรา 17 เมื่อมีผู้ร้องขอโดยมีหลักฐานตามสมควรว่า กกต.พ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 16 ให้เลขาธิการวุฒิสภาเสนอเรื่องต่อประธานกรรมการสรรหาภายใน 5 วัน นับแต่ได้รับเรื่อง

มาตรา 18 การลงมติในการประชุมกกต.ให้ใช้เสียงข้างมาก ประธานและกรรมการที่มาประชุมต้องลงคะแนน กรณีมีคะแนนเท่ากัน ให้ประธานมีสิทธิออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งเสียงเพื่อชี้ขาด การไม่เข้าประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ถือว่าจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

มาตรา 19 กกต.ทุกคนที่อยู่ในที่ประชุมต้องลงมติ การงดออกเสียงหรือออกเสียงแตกต่างไปจากประเด็นที่ต้องลงมติจะทำไม่ได้ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะออกจากตำแหน่งก่อนลงมติ ในเรื่องต่อไปนี้ (1) การวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย (3) การแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง (4) การสั่งระงับการดำเนินการที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่ถูกกฎหมาย

(5) การสั่งระงับสิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา 26 หรือมาตรา 41 (6) การร้องศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามกฎหมายว่าดวยการเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายว่าการด้วยมาซึ่งส.ว.

(7) การสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และการวินิจฉัยว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใด รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นในกิจกรรมทางการเมือง

มาตรา 21 ระหว่างการดำรงตำแหน่ง กกต.จะเข้ารับการศึกษาหรืออบรมหลักสูตรหรือโครงการใดไม่ได้ เว้นแต่เป็นหลักสูตรหรือโครงการที่กกต.เป็นผู้จัดขึ้นโดยเฉพาะสำหรับกรรมการ

มาตรา 22 ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ในการสอดส่อง สืบสวน หรือไต่สวน เพื่อป้องกันการกระทำที่จะก่อให้เกิดความไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเวลาประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง หรือไม่ก็ตาม

มาตรา 26 ระหว่างการเลือกตั้ง กกต.แต่ละคนมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ (3) เมื่อพบการ กระทำหรืองดเว้นการกระทำ อันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีจำเป็นไม่อาจหลีกเลี่ยง จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งบางหน่วย หรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งได้

มาตรา 28 ในการเลือกตั้ง ส.ส. หรือการเลือกตั้ง ส.ว. แต่ละครั้ง ให้กกต.แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในระหว่างเวลาการเลือกตั้ง นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันประกาศผล หรือภายหลังจากนั้นอีก 60 วัน แล้วแต่กกต.กำหนด เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายของพรรคการเมือง หรือทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งมีอำนาจแจ้งเตือน และสามารถรายงานให้กกต.ทราบได้

มาตรา 29 ให้กกต.คัดเลือกบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาแต่ละจังหวัดไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน เพื่อทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้ไม่เกิน 5 ปี ประกาศบัญชีรายชื่อให้ทราบไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ กรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 5 ปีก่อนการแต่งตั้ง ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดสำหรับส.ส.

มาตรา 30 ให้กกต.แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อให้เสร็จไม่น้อยกว่า 10 วัน นับจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง เพื่อไปประจำทุกจังหวัด ด้วยการจับสลาก ไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน ให้มีผู้มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่แต่งตั้ง 2 คน ที่เหลือเป็นผู้มีภูมิลำเนานอกจังหวัด

มาตรา 31 ให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทน

มาตรา 32 กกต.อาจขอให้มีอำนาจดำเนินการดังนี้ (1) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สอบบัญชีของพรรคการเมืองอย่างเร่งด่วนในช่วงที่มีการเลือกตั้งก็ได้ (2) เมื่อปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีการทำผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แจ้งรายงานการทำธุรกรรมของพรรคการเมือง

มาตรา 35 กกต.อาจตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล หรือสถาบันการศึกษา ที่สมัครใจ ไปทำหน้าที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อรายงานต่อกกต.ได้

บทเฉพาะกาล

มาตรา 70 ประธานและกรรมการกกต.ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ และไม่มีคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้ามขัดกับรัฐธรรมนูญให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. 2550

มาตรา 71 ภายใน 15 วัน นับจากพ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ ที่ไม่ใช่กกต.ส่งผู้แทนเข้าประกอบเป็นคณะกรรมการสรรหา และจากนั้นอีก 15 วัน ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาว่า ประธานและกรรมการกกต.ผู้ใดที่อยู่ก่อนวันที่พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ มีใครขัดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ถ้ามีให้พ้นจากตำแหน่งวันที่มีคำวินิจฉัยทันที

มาตรา 72 ภายใน 30 วัน นับจากวินิจฉัยตามมาตรา 71 แล้ว ให้คณะกรรมการสรรหา สรรหากกต.ที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 71 และให้สรรหาเพิ่มอีก 2 คน เพื่อให้ครบ 7 คน กรณีที่ประธานกกต.หรือกกต.ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ในสัดส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก แล้วส่งชื่อให้คณะกรรมการสรรหาภายใน 30 วัน นับแต่มีคำวินิจฉัยตามมาตรา 71

มาตรา 74 กกต.จังหวัด ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. 2550 ให้พ้นจากตำแหน่ง นับจากวันที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน