คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

สถิติที่ไทยติดอันดับประเทศที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดอันดับ 2 ของโลก ย่อมเป็นเรื่องที่น่ากลุ้มใจ ทำให้รัฐบาลพยายามแก้ไขด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา มีมาตรการคุมเข้มมากขึ้น และใช้กำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจจับผู้ละเมิดกฎหมายหลายแสนคดี

เช่น คดีไม่สวมหมวกนิรภัย มียอดสะสมรวมเกิน 2 แสนราย คดีมอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัยเกิน 6 หมื่นราย คดีเมาสุรา มีเกินหมื่นราย ฯลฯ

ความแข็งขันของเจ้าหน้าที่จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตที่รัฐบาลระบุว่า เมื่อเทียบกับปี 2559 แล้วลดลงเกือบร้อยละ 20

แต่จะพ้นจากตำแหน่งอันดับ 2 ของโลกหรือไม่ ต้องรอการประมวลผลขององค์กรต่างประเทศอีกครั้ง

แน่นอนว่าจำนวนยอดผู้เสียชีวิตที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องดี และเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน

แต่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวและแก้ให้ได้เห็นผลชัดเจนยังคงขึ้นอยู่กับระบบขนส่งมวลชน

เพราะถ้าจำนวนผู้คนเดินทางในช่วงหยุดยาวจำเป็นต้องพึ่งท้องถนนเป็นหลัก ความเสี่ยงในอุบัติเหตุก็ยังมีเช่นเดิม

ทั้งรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และรถปิกอัพบรรทุก 4 ล้อ

เป็นทางเลือกที่มีอยู่ไม่มาก

จํานวนผู้เสียชีวิต 300-400 ราย บาดเจ็บ 3,000-4,000 คน ในช่วงเวลา 7 วันอันตรายไม่ใช่ตัวเลขน้อยๆ อีกทั้งยังใกล้เคียงกับเมื่อช่วงปีใหม่ของปี 2560

แม้จะเป็นการลดจำนวนลงจากปีก่อน แต่ก็ไม่ใช่สถิติที่มีแนวโน้มจะลดลงอย่างต่อเนื่องหรือลดลงอย่างเห็นได้ชัด

หากไม่มีทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟ หรือไฮสปีดเทรน ที่จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

ตัวเลขที่ลดลงนี้ก็คงดีใจได้ชั่วคราว และไม่แน่ชัดว่าจะยังรั้งที่ 2 ของโลกอีกนานเท่าใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน