ประชาชนชินชา?

คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ประชาชนชินชา? – ถ้ายุบอนาคตใหม่แล้วธนาธรจะนำประชาชนลงถนนโค่น คสช.ไหม ทำไม่ได้หรอก เพราะไม่ใช่ม็อบมีเส้น ปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง ปูทางรัฐประหาร แล้วกลับมาสังวาสกันเห็นๆ

ยุคนี้สมัยนี้เป็นไปได้ยากที่จะเกิด 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 เพราะอำนาจระดับบนเป็นปึกแผ่น ประชาชนก็แตกแยก สลิ่มดักดานยังปกป้องอำนาจสามานย์

อุดมการณ์ประชาธิปไตยในปัจจุบันก็ลดความร้อนแรง เลิกคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงฉับพลัน โค่นล้มมันแล้วฟ้าสีทองผ่องอำไพ คนรักประชาธิปไตยแค่อยากมีสิทธิเสรีภาพ ในระบอบที่ดีกว่า ไม่ใช่พวกหน้ามืดยอมตายทำลายทุกอย่างเพื่อความเคารพบูชา แบบม็อบจารีตหรือนักรบศาสนา

เมื่อประชาธิปไตยไม่สามารถต่อสู้ด้วยอาวุธ ด้วยความรุนแรง หรือเห็นว่าลุกฮือก็ไม่คุ้มค่า 5 ปีที่ผ่านมา เผด็จการจึงได้ใจ วางระบอบเบ็ดเสร็จ กระชับอำนาจ ยึดพื้นที่สิทธิเสรีภาพทีละส่วนๆ แต่ยังทำให้คนรู้สึก “พออยู่ได้” ยังหวังจะต่อสู้ทางความคิดเพื่อเปลี่ยนแปลงในระยะยาว

กระนั้นก็น่าสงสัยว่า เมื่อผ่านการสืบทอดอำนาจด้วยกติกาเอาเปรียบ อย่างหนา อย่างโจ๋งครึ่ม แล้วยังใช้กฎหมายทำลายฝ่ายตรงข้าม อุ้มตัวเองและพวกพ้อง ระบอบอำนาจนี้ก็จะคงอยู่ไปได้เรื่อยๆ หรือ

หรือยังเชื่อว่าจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ สองมาตรฐาน อยุติธรรมแค่ไหน ประชาชนก็ไม่กล้าลุกฮือ ต้องจำยอมเรื่อยไป

เช่นถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ไม่เป็นไรหรอก ประชาชนชินชาซะแล้ว ยุบมาตั้งหลายพรรค เดี๋ยวก็ย้าย ส.ส.ไปพรรคใหม่ ไม่อยากเสียเก้าอี้ กรรมการบริหารรีบลาออกจาก ส.ส. เลื่อนปาร์ตี้ลิสต์ขึ้นมาแทนได้

คงใช่มั้ง ถ้าไม่มองว่าเกิดอะไรขึ้นนับแต่เลือกตั้ง

เลือกตั้งทุกครั้ง 2544,2548,2550,2554 พรรคทักษิณชนะเป็นรัฐบาล แล้วถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหาร 2549 ยุบพรรค 2551 รัฐประหาร 2557 บนความเกลียดชังของคนชั้นกลางในเมือง ที่มองเป็นแหล่งสุมหัวนักการเมืองสามานย์ อีกข้างเป็นคนดีดัดจริต แพ้เพราะถูกซื้อ

แต่เลือกตั้ง 2562 กลับข้าง นักการเมืองที่คนชั้นกลางเคยเกลียดชัง ย้ายข้างกันครึกครื้น “รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา” ได้อานิสงส์จากอำนาจ กติกาเอาเปรียบ 244 ส.ว.ตู่ตั้ง+6 ผบ.เหล่าทัพ ไม่ใช่โหวตให้ตู่คนเดียว แต่โหวตนักการเมืองมาร่วมเสวยอำนาจด้วย

นี่ต่างกับรัฐบาลรัฐประหารที่ยังพอสร้างภาพ ตั้งคนดีคนเก่ง แม้ทำอะไรกันงุบงิบ แต่หลังเลือกตั้ง เครือข่ายอนุรักษนิยมจำเป็นต้องอุ้มนักการเมืองที่ผู้สนับสนุนตนเคยยี้ แม้มีข้อครหา แม้มีคดีความ มีชนักเต็มหลัง จนถูกด่าสองมาตรฐาน

หันไปดูฝ่ายค้าน แม้พรรคเพื่อไทยประคองตัวเข้ามาอย่างยากลำบาก แต่แสดงความเหนียวแน่นของฐานมวลชน ขณะที่อนาคตใหม่พรวดขึ้นมาโดดเด่น ทั้งด้วยฐานเสียงเพื่อไทยในเขต ทษช.ถูกยุบ ด้วยคะแนนคนรุ่นใหม่ แบบยกมหาวิทยาลัย และคะแนนคนชั้นกลางในเมืองที่ส่วนหนึ่งก็เคยไล่ทักษิณ

เอาเข้าจริง อนาคตใหม่คือพรรคในอุดมคติของคนชั้นกลางในเมือง ไม่ใช่แค่ไม่ซื้อเสียง แต่หาเสียงด้วยวิธีใหม่หมด แต่อนาคตใหม่ถูกจ้องทำลาย เพราะเป็นพรรคที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างถึงรากถึงโคน จนโดนข้อหา “ชังชาติ”

Lawfare หลังเลือกตั้ง 2562 จึงต่างกับหลังเลือกตั้ง 2550,2554 เพราะเกิดกับพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ ได้ฐานเสียงคนชั้นกลาง ขณะที่รัฐบาลซึ่งรวมนักการเมืองสารพัดยี้ ทำอะไรก็ไม่ผิด เอาเปรียบทุกอย่าง ตั้ง ส.ว.โหวตตัวเอง สูตร ส.ส.เศษคน มาจนใช้งูเห่า แล้วยังลอยหน้าลอยตาว่าการทำผิดศีลธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา

พูดง่ายๆ ว่า การเมืองปกติ ใครเป็นรัฐบาลก็เป็นเป้า แก้ปัญหาไม่ได้ดังใจก็ถูกด่า ฉะนั้นการใช้ Lawfare กับรัฐบาลจึงง่ายกว่า แต่ถ้ารัฐบาลเอาเปรียบกติกาแล้วลอยนวล ฝ่ายค้านทำอะไรก็ผิด ปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมาจะตรงกันข้าม

แม้แน่ละ ถ้ายุบพรรคอนาคตใหม่ไม่มีม็อบออกมาต้านหรอก ปัดโธ่ คนรุ่นใหม่ก็แค่นักเลงคีย์บอร์ด ใครไม่ยอมรับอำนาจศาลก็ถูกปราบ

แต่ความโกรธแค้นชิงชังจะระบายไปที่รัฐบาล ซึ่งมีแผลเหวอะหวะ แถมปัญหาเศรษฐกิจปากท้องจะรุนแรงขึ้นในปีหน้า เทียบง่ายๆ แค่ปรากฏการณ์ปารีณา ยังโดนสังคมขึงพืด อย่าคิดว่าจะไม่เจอหนักหนากว่านี้

การตอบโต้สามารถรวมศูนย์ไปที่รัฐบาล ซึ่งอาจไม่ต้องรอให้เปิดแผล ใช้มาตรการแอนตี้ บอยคอต ทีละระดับ โดยไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมาย นี่ง่ายกว่ายุคสมัคร ยิ่งลักษณ์ รบกับ Lawfare เพราะแค่ประยุทธ์สะดุดอะไรแล้วพัง ก็เละทั้งระบอบ

ม็อบฮ่องกงไม่ได้จู่ๆ ก็โผล่มาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่สั่งสมความไม่พอใจ ความเหลื่อมล้ำ แล้วกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาจุดไฟ อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

ความเปลี่ยนแปลงในโลก เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น เหมือนจู่ๆ ก็บังเอิญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน