ตีโจทย์ให้แตก

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ตีโจทย์ให้แตก – คําเตือนจากฝ่ายความมั่นคงต่อประชาชนเมื่อเร็วๆ นี้ มีประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้อาจเปี่ยมด้วยความหวังดี แต่อาจเป็นการประเมินที่มีข้อมูลผิดพลาดหรือผิดประเด็น

ฝ่ายความมั่นคงขอให้ประชาชนร่วมกันเตือนสติและใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรองข้อมูลที่ได้รับอย่างรอบด้านและเท่าทัน เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือของบุคคลใด ยั่วยุให้เกิดความแตกแยกสามัคคีกันดังเช่นอดีต

ความเข้าใจว่าความแตกแยกของคนในสังคมตั้งแต่อดีตเกิดจากเครื่องมือของบุคคล น่าเป็นปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงแก้โจทย์นี้ไม่ได้

หากฝ่ายความมั่นคงมีความเชื่อว่าความขัดแย้งของคนในสังคมเกิดจากการที่ประชาชนตกเป็นเครื่องมือของบุคคล เรื่องนี้ควรทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อให้มองเหตุการณ์ตามความเป็นจริงมากขึ้น และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประชาชนที่ชัดเจนมาตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ไม่ใช่เรื่องที่บุคคลใดยุยงปลุกปั่นให้เกิดขึ้นได้และต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน

แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนที่เริ่มมีสิทธิมีเสียงและมีอำนาจในการต่อรองทรัพยากรและงบประมาณ กับกลุ่มที่ได้เปรียบทางสังคมอยู่เดิมที่ไม่ต้องการการจัดระเบียบใหม่

โดยมีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมคือปัจจัยที่เพิ่มความเข้มข้นให้กับความขัดแย้งนั้น

สําหรับการเผยแพร่ข่าวปลอมในยุคปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างกับการโฆษณาชวนเชื่อในอดีต ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องจัดการและรู้เท่าทัน

แต่รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมและโจทย์ที่ต้องตีให้แตก และไม่โกหกตัวเองว่าประเทศนี้มีแต่ความสามัคคี รักสงบ ทั้งที่ความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้ว และยังไม่สามารถแก้ไขการเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มคนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่า ฐานะทางเศรษฐกิจเหนือกว่า มีการแย่งชิงอำนาจจากประชาชนหลายครั้ง

พร้อมกับการกล่าวโทษให้ร้ายตัวบุคคล โดยไม่คิดว่าประชาชนมีความคิดและวิจารณญาณที่จะเลือกและตัดสินใจเอง

นี่เป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงควรตระหนักและรู้จักประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน