แก้ภัยแล้งอย่างไร

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

แก้ภัยแล้งอย่างไร – สํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปตรงกันว่าครึ่งปีแรก พ.ศ.2563 ปริมาณน้ำจะลดลง และการเพาะปลูกข้าวนาปี พ.ค.-มิ.ย.อาจเลื่อนออกไป เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอ

ส่วนนอกพื้นที่ชลประทานขณะนี้พบว่า มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ มีพืชยืนต้นตาย จำนวน 0.37 ล้านไร่ ส่วนผลไม้ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญยืนต้นตายจำนวน 2.6 ล้านไร่ ในพื้นที่ 30 จังหวัด

ทั้งนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติงบประมาณกลางปีเพื่อแก้ไขภัยแล้งระยะเร่งด่วน ปี 2562/63 วงเงิน 3,079 ล้านบาท เพื่อโครงการด้านอุปโภค บริโภคจำนวน 2,041 โครงการ ครอบคลุม 43 จังหวัด

ซึ่งจะใช้แก้ปัญหาได้ที่ปลายเหตุ

ขณะนี้พบว่าแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 49,789 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,714 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44% แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 20,738 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44%

ล่าสุดมีเขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่า 30% ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลาง 354 แห่ง จากทั้งหมด 660 แห่ง อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 91 แห่ง

ต้องยอมรับปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อย ทำให้นาข้าวโดยเฉพาะในแหล่งผลิตสำคัญได้รับความเสียหายจำนวนมาก ขณะเดียวกันประสบอุทกภัยในช่วงปลายฤดู

นอกจากซ้ำเติมเกษตรกรชาวนาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการเก็บกักน้ำด้วย

หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รัฐบาลประชาธิปไตยมีแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ภายใต้พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่ก็ถูกขัดขวาง มีการส่งเรื่องเข้าไปป.ป.ช.แม้จะถูกตีตก แต่ก็ทำให้ประเทศเสียโอกาส

หลังจากรัฐบาลรัฐประหารเข้ามีอำนาจ แม้จะมีโครงการบริหารจัดการน้ำบ้าง แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นการแก้ปัญหาแบบกลัวจะมีเหตุการณ์อย่างน้ำท่วมใหญ่อย่างสมัยรัฐบาลก่อน

จึงขาดความเป็นเอกภาพ ไม่สามารถบูรณาการให้เกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมได้ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าจะเก็บกักน้ำก็ไม่ได้ แล้วเรียกร้องให้ชาวนาประหยัดน้ำ เลิกทำนาปรัง และหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน

เวลากว่า 5 ปีที่รู้ปัญหา แต่น่าสงสัยว่าทำไมแก้เรื่องภัยแล้งไม่สำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน