ศึกสหรัฐ-อิหร่าน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

นอกเหนือประเด็นคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณแจ้งไทยก่อนการสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่าน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และความหวาดหวั่นว่าอาจลากไทยเข้าไปอยู่ในศึกแค้นของชาติอื่นโดยไม่จำเป็น จนต้องมาแก้ข่าวกันภายหลังว่าข้อมูลผิดพลาดนั้น

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทยอย่างแน่นอนคือเรื่องเศรษฐกิจ

คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันของภาคเอกชน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต่างเห็นว่า ปัจจัยภายนอกนี้ เมื่อรวมกับปัจจัยภายใน ภาวะแล้งที่รุนแรง จะกระทบผลผลิตและกำลังซื้อเกษตรกร และอาจทำให้ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น

รัฐบาลจึงต้องเร่งหามาตรการรับมือฉุกเฉิน

สําหรับศึกการเผชิญหน้าทางทหารระหว่าง สหรัฐอเมริกากับอิหร่าน เป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากการเผชิญหน้าด้วยสงครามการค้า ที่แม้ว่าจะมีทิศทางที่คลี่คลายไปบ้างแต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ ชิด

สำหรับการส่งออกของไทยไปตลาดตะวันออกกลาง แม้คิดสัดส่วนเป็นร้อยละ 3.5 แต่สถานการณ์โดยภาพรวมจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก

เพราะการโจมตีทางอากาศส่งผลทั้งต่อด้านกายภาพและต่อจิตวิทยาของผู้คน นักท่องเที่ยวจะลดการเดินทางโดยเครื่องบินไปโดยปริยาย

เมื่อการเดินทางลดลง ย่อมส่งผลต่อธุรกิจที่พัก โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว ภาคบริการคมนาคม และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

ไม่เท่านั้น ก่อนเกิดศึกเผชิญหน้าสหรัฐ-อิหร่าน การส่งออกของไทยมีตัวเลขที่น่าวิตกอยู่แล้ว

การประเมินผลของกกร.ระบุถึงความเป็นไปได้ที่ติดลบร้อยละ -2 ถึง 0 และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 อาจขยายตัวได้ราวร้อยละ 2.5 ถึง 3

คำแนะนำของกกร. คือต้องเร่งหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดตะวันออกกลาง เช่น อินเดีย บังกลาเทศ และอาเซียน และเร่งรัดการบังคับใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 รวมถึงการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

ส่วนที่สำคัญที่เพิ่มเข้ามา คือการดำเนินการทางการทูตต้องรอบคอบกว่าเดิม อย่าได้พลาดอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน