คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การเลือกตั้งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากไม่ค่อยเป็นข่าวที่รับทราบของคนภายนอกเหมือนกับในปีนี้ ยังไม่เคยมีครั้งใดสร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดเห็นได้มากเท่ากับปีนี้

เหตุผลสำคัญอยู่ที่ผู้ได้รับเลือกตั้งคือนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นเยาวชนที่มีบทบาท ในการแสดงความคิดเห็นด้านสิทธิมนุษยชนและการเมืองมาตั้งแต่สมัยอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

เคยเป็นเลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย และกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

เป็นผู้ที่ตั้งคำถามในประเด็นท้าทายสังคมที่ ผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ ตั้งแต่โรงเรียนจนมาถึงสถาบันอุดมศึกษา

เป็นเรื่องที่ไม่พบเห็นบ่อยนักในสังคมไทย

การแสดงออกทางความคิดของเนติวิทย์สะท้อนถึงแนวเสรีนิยม แม้จะเป็นเด็กเรียนดีแต่ไม่อยู่ในกรอบของเด็กดีในค่านิยมความคิดเดิมที่ต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่โดยไม่ปริปาก

ยิ่งเมื่อไม่ทำตามความนิยมเดิมของผู้ที่เคยปฏิบัติกันมา เช่น ไม่เห็นด้วยกับหรือศรัทธากับระบบโซตัสและการรับน้อง จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

สิ่งที่น่าวิตกคือการตอบโต้ของผู้ไม่เห็นด้วยในกลุ่มอนุรักษนิยมนั้นหลายคนและหลายครั้งเป็นไปอย่างรุนแรงถึงขั้นเป็นเฮตสปีช

แสดงถึงความเกลียดชัง เหยียดหยาม เย้ยหยัน และกล่าวร้าย เสี่ยงต่อการเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง

อีกทั้งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นปัญญาชน

คําประกาศของเนติวิทย์ในฐานะประธานสภานิสิตคนใหม่ ว่าจะมุ่งเน้นปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของนิสิตจุฬาฯ เป็นถ้อยคำที่เรียบง่ายและสุภาพ มิได้ท้าทายหรือหมิ่นประมาทใดๆ

หากจะต้องมีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของเนติวิทย์ ก็ควรใช้คำประกาศเกี่ยวกับนโยบายนี้ว่าทำได้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

การใช้วิธีข่มขู่คุกคามถึงขั้นมีเหตุการณ์ที่มีบุคคลเข้าไปถามหาเนติวิทย์ถึงภายในรั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันการศึกษานั้นไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง

เพราะนั่นไม่ใช่วิธีปฏิบัติที่สุภาพชนพึงมี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน