ก่อนยืนต้นตายต้องผ่าตัดใหญ่

ก่อนยืนต้นตายต้องผ่าตัดใหญ่ – สถานการณ์การเมืองร้อนแรงจากปีที่แล้วคุกรุ่นข้ามศักราชมาถึงปี 2563 ตั้งแต่ต้นปีรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจองานเข้าไม่ได้หยุดหย่อนตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ

ล่าสุดกรณีส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐหารือในที่ประชุมสภา ว่ามีความจำเป็นต้องสร้างสะพานจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรช่วงเทศกาล

พร้อมเสนอตั้งชื่อสะพาน “จันทร์โอชา” เพื่อเป็นเกียรติประวัติกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยยกเอาสะพาน “สารสิน” และสะพาน “ติณสูลานนท์” นามสกุล 2 นายกฯในอดีต เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ

พริบตาเดียวปรากฏว่าโดนกระแสสังคมทั้งในและนอกโลกโซเชี่ยลรุมถล่มเละเทะ จนพล.อ.ประยุทธ์ และทีมโฆษกรัฐบาล ต้องรีบออกมาเบรกกระแส ให้ข่าวปฏิเสธยืนยันไม่อนุญาตให้เอาชื่อตระกูล “จันทร์โอชา” ไปตั้งเป็นชื่อสะพาน หรืออะไรทั้งสิ้น

แต่ก็สายเกินการณ์ กระแสโซเชี่ยลเร็วแรงเกินกว่ารัฐบาลจะตามทัน

เรื่องไม่เป็นเรื่องจึงกลายเป็นเรื่องซ้ำเติมภาพลักษณ์รัฐบาลทรุดฮวบลงไปอีก

หนำซ้ำยังเกิดกรณี “ไม้มงคล” ในทำเนียบรัฐบาล ใบแห้งเหี่ยวเหลืองกรอบใกล้ “ยืนต้นตาย” สาเหตุเพราะน้ำที่ใช้รดต้นไม้มีค่าความเค็มสูง ผลพวงจากพิษภัยแล้ง

ด้วยความเป็นไม้มงคล ก็เลยเกิดเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ไปในทางที่ไม่ค่อยเป็นมงคลกับรัฐบาลเท่าใดนัก ถึงขนาดที่ว่าอาจเป็นสัญญาณลางร้าย รัฐบาลกำลังจะ “ยืนต้นตาย” เหมือนต้นไม้ในทำเนียบ

ผสมกับปัญหาการบ้านการเมืองสารพัดรุมเร้าตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ทั้งปัญหาฝุ่นพิษ ภัยแล้ง น้ำประปาเค็ม คนฆ่าตัวตายจากพิษเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็ง เศรษฐกิจขยายตัวต่ำจนเกิดการว่างงาน หนี้เสีย หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม ข้าวของแพง เนื้อหมู พืชผักพาเหรดขึ้นราคา ฯลฯ

ปัญหาเหล่านี้ผนึกเป็นแรงบีบคั้นให้มีคนออกมา “วิ่งไล่ลุง” จำนวนนับหมื่นเมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่รวมในอีกหลายจังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ

ถือเป็นการรวมตัวแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปี

นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารของคสช.เมื่อปี 2557 เป็นต้นมา

เกี่ยวกับกระแสวิ่งไล่ลุง สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาล อาจเป็นเรื่องน่ากังวลหวาดหวั่นพอๆ กับกระแส “เดินเชียร์ลุง” ที่จัดขึ้นคู่ขนานวันเดียวกัน

ด้านหนึ่งถึงมีการระบุยอดตัวเลขผู้มาร่วมกิจกรรมเดินเชียร์ถึง 2 หมื่นคน แต่เชื่อว่าประชาชนที่เฝ้าดูอยู่รู้ดีว่าเป็นตัวเลขจริงหรือเป็นแค่ยอดปั่นหวังผลเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจ

กับอีกด้าน งานเดินเชียร์ที่ตอนแรกนึกวาดภาพว่า เหล่าบรรดานักร้อง ดารา เซเลบ และนักวิชาการสายนกหวีดสมัยม็อบ กปปส.จะมาร่วมประชันโฉมกันคับคั่งสวนลุมฯ เพื่อรำลึกความหลังชัตดาวน์กรุงเทพ เชียร์ลุงเข้ามายึดอำนาจ

ปรากฏถึงเวลาจริงหายเรียบ ปล่อยให้เป็นหน้าที่หมอเก็บขยะกับนักร้องแวนโก๊ะ ออกมาเดินนำกันอยู่สองคน

แบบนี้จะไม่ให้ “ลุง” ใจร่วงไปอยู่ตาตุ่มได้อย่างไร และน่าจะเป็นเหตุผลทำไมพล.อ.ประยุทธ์ ถึงชิงออกตัว ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของประชาชนทั้งสองกลุ่ม ทั้งวิ่งไล่และเดินเชียร์เพราะไม่มีสาระ ทำให้เสียเวลาประเทศ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์วิจารณ์กิจกรรมวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุง ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดแต่ก็น่าสนใจ

ว่าเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มไม่เอาประยุทธ์ กับกลุ่มสนับสนุน ทำให้สถานการณ์ย้อนหลังไปสู่เหตุการณ์ก่อน 22 พ.ค.2557 ที่ตอนนั้นเป็นความขัดแย้งระหว่างระบอบทักษิณกับ สังคมไทย

แต่วันนี้เปลี่ยนคู่ขัดแย้งใหม่เป็น“ระบอบประยุทธ์” กับ“สังคมคนรุ่นใหม่”

แสดงให้เห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมาได้ข้อสรุปชัดเจนว่าการบริหารประเทศภายใต้คสช.ล้มเหลวสิ้นเชิง ไม่สามารถปลดล็อกความขัดแย้งได้ ทำให้รัฐประหารปี 2557 เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่คุ้มค่า

เป็นการยึดอำนาจที่“เสียของ”อีกครั้งเพราะไม่สามารถคลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยตามเป้าหมายที่ประกาศ

วันนี้สถานการณ์การเมืองพัฒนามาเป็นการชุมนุมผ่านสังคมโซเชี่ยลมีเดีย นัดชุมนุมกันแบบครั้งคราว หรือแฟลชม็อบ สร้างแรงกดดันไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะสุกงอม ซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับพล.อ.ประยุทธ์

ต้องเป็นผู้ถอดสลักความขัดแย้งและแก้ปัญหาด้วยตนเองให้ได้

“วันนี้จุดศูนย์กลางความขัดแย้งได้เปลี่ยนมาเป็นพล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์จะถอดสลักแก้ปัญหาขัดแย้งของคนในชาติได้อย่างไร เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์และบริวารต้องไปขบคิดและหาแนวทางแก้ไข หรือถอนตัวออกจากการเป็นคู่ขัดแย้งให้เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปสู่สภาวะปกติตามที่ทุกฝ่ายในสังคมปรารถนา” นายเทพไทกล่าว

ขณะที่การเมืองนอกสภาเริ่มจุดติด การเมืองในสภาก็ทำท่าร้อนแรงไม่น้อยกว่ากัน

ฝ่ายค้านนำโดยพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อย่างช้าภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ประธานสภาบรรจุญัตติอภิปรายได้ในช่วงหลังตรุษจีน ปลายเดือนม.ค.หรือต้นเดือนก.พ.

เบื้องต้นขึ้นเมนู“รัฐมนตรีเป้าเชือด”ไว้หลายคน แต่เป็นแค่ออเดิฟเรียกน้ำย่อย

อาหารจานหลักอยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คนเดียวสวมหมวก 3 ใบ กำกับดูแลงานทั้งด้านบริหาร ด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจ

ถึงกระนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังเก็บอาการทำใจดีสู้เสือ ปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่านายกฯ อาจชิงประกาศยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ไม่มียุบเยิบอะไรทั้งนั้น” นายกฯ ระบุ

ทั้งนี้ กระแสข่าวยุบสภาหนีการถูกซักฟอก แทนที่จะใช้วิธีปรับครม. ในแวดวงการเมืองมีการประเมินถึงความเป็นไปได้มาระยะหนึ่ง เพราะสารพัดปัญหารุมเร้ารัฐบาลมาถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นับวันมีแต่ย่ำแย่ลง

การปล่อยให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์บอบช้ำหนัก จนไม่สามารถไปต่อได้ การชิงยุบสภาจึงเป็นทางออกหนึ่ง แต่ความเสี่ยงคือ หากยุบสภาจัดการเลือกตั้งใหม่แล้ว จะได้กลับมาสืบต่ออำนาจได้อีกหรือไม่

พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ กระทั่งส.ว. หรือองค์กรอิสระที่เคยเป็นนั่งร้านให้รัฐบาล คสช.และรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” ยังพร้อมทำหน้าที่เดิมๆ หรือถอดใจ “ลอยแพ” ไปดื้อๆ เพราะทนดูประเทศเสียหายมากไปกว่านี้ไม่ไหว

บวกกับกระแส“วิ่งไล่ลุง”ที่จุดติดแล้วเรียบร้อย และอาจโหมรุนแรงกว่านี้ได้อีกในระยะข้างหน้า

ขณะที่สถานการณ์บ้านเมือง ยังต้องจับตาคดีพรรคอนาคตใหม่ จะถูกตัดสิน“ยุบพรรค”หรือไม่ จากคดีล้มล้างการปกครอง หรือที่เรียกว่าคดีอิลลูมินาติ ในวันอังคารที่ 21 ม.ค.นี้ รวมถึงคดีอื่นๆ ที่โดนยัดเยียดติดตัวยาวเป็นหางว่าว

ตรงนี้จึงนำมาสู่บทสรุปคาดการณ์กันใหม่ ถึงใกล้ยืนต้นตายขนาดไหน พล.อ.ประยุทธ์คงไม่กล้าเลือกวิธียุบสภา เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่แกล้งตายแล้วได้ตายจริง ไม่ได้กลับมาเกิดใหม่

สุดท้ายเชื่อว่าจะเลือกปรับครม.มากกว่า โดยเฉพาะในส่วน “ครม.เศรษฐกิจ” ที่อาจต้องเป็น“แพะ”สังเวยโดนโละทิ้งยกแผง ถึงจะช่วยให้รัฐบาลประคองตัวต่อไปได้

ส่วนปรับทีมเศรษฐกิจแล้วจะอยู่ต่อได้อีกนานแค่ไหน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี คงต้องไปลุ้นกันอีกที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน