เข้าสู่วาระครบรอบ 3 ปีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้นกำเนิดแม่น้ำ 5 สาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. มอบการบ้านแต่ละหน่วยงานเตรียมข้อมูลสรุปผลงานนำเสนอให้ประชาชนรับทราบ แบ่งเป็น 2 ขยัก

ขยักแรก ในส่วนคสช.ครบรอบวันที่ 22 พฤษภาคม ขยักที่สอง ในส่วนของรัฐบาลครบรอบในเดือนกันยายน

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ประกาศภารกิจสำคัญในการยุติปัญหาขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ที่แตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในห้วงเวลานั้นอย่างเฉียบพลัน

ก่อนเดินหน้าสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้คนในชาติ แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปฏิรูปประเทศครอบคลุมทุกมิติการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ

ยืนยันขอเวลาไม่นาน คืนความสุขให้ประชาชน

คสช.ยังประกาศสิ่งที่เรียกว่า “โรดแม็ปเลือกตั้ง” นำประเทศกลับสู่เส้นทางความเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาโรดแม็ปดังกล่าวขยับเลื่อนออกไปหลายครั้ง

กระทั่งรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับปี 2560 มีผลบังคับใช้เป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา

ทำให้เกิดการคาดหมายใหม่ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นหลังพ้นช่วงกลางปี 2561 ไปแล้ว

นั่นหมายถึงจากนี้อีก 1 ปีเศษจะเป็นช่วง “โค้งสุดท้าย” ของคสช.

ในวาระครบรอบ 3 ปีการบริหารประเทศ คสช.เดินหน้ามาแล้วค่อนทาง

เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่หลายภาคส่วนในสังคมจะต้องประเมินทุกๆ ช่วงเวลาการบริหารประเทศว่าผู้มีอำนาจรับผิดชอบได้ทำงานสำเร็จมากน้อยแค่ไหน สิ่งใดทำแล้ว สิ่งใดกำลังทำ สิ่งใดยังไม่ได้ทำ

แน่นอนในมุมรัฐบาลคสช.ที่พูดเองเออเอง

ต้องบอกว่าผลงาน 3 ปีสอบผ่านฉลุยทุกด้าน

ผลงานเด่นชัดที่ทางทีมงานโฆษกรัฐบาลและคสช.หยิบยกขึ้นมาอ้างถึงบ่อยๆ คือการหยุดยั้งความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

มีการออกกฎกติกาบ้านเมืองใหม่ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายหลายฉบับที่ช่วยขจัดปัญหาเรื้อรังทุกด้าน ทั้งการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นระดับชาติและระดับท้องถิ่น

แก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ประมงผิดกฎหมาย ปราบปรามค้ามนุษย์ แก้หนี้นอกระบบ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ระดับต่างๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และกลุ่ม สตาร์ตอัพ

ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านประชารัฐ การจัดสรรที่ดินทำกิน การเก็บภาษีที่ดินและมรดก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลปกติทำได้ไม่เต็มที่

เพราะคำนึงถึงแต่ฐานเสียงและติดกับดักความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตามผลงาน 3 ปีรัฐบาลคสช. ฝ่ายการเมืองให้ความเห็นในมุมแตกต่างออกไปชนิดตรงกันข้าม อย่างเช่นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรงในบ้านเมือง

หลายคนมองว่าคสช.และรัฐบาลสอบไม่ผ่าน

เนื่องจากความสงบเรียบร้อยในตอนนี้เป็นเพียงแค่เปลือกนอก

เป็นผลจากประกาศคำสั่งคสช.และหัวหน้า คสช.ในการควบคุมพรรคการเมือง และสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง ยังคงมีผลใช้บังคับเข้มงวด โดยอ้างเรื่องความมั่นคง แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้แล้วก็ตาม

ประเทศฝรั่งเศสและเกาหลีใต้จัดการเลือกตั้ง ประชาชนใช้สิทธิเลือกผู้นำประเทศคนใหม่เข้ามาจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ท่ามกลางความชื่นชมยินดีจากนานาประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก

แต่ในไทยแค่เลือกตั้ง “ประธานสภานิสิต” ยังมีปัญหา ทำให้ผู้มีอำนาจและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารไม่พอใจ กล่าวให้ร้ายโจมตีรุนแรง

สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ความแตกแยกแบ่งฝักฝ่ายในสังคมไทยไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ย้ายจากเวทีข้างถนนเข้าไปอยู่ในโลกโซเชี่ยล

จนน่าเป็นห่วงว่าเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมาถึง บ้านเมืองจะมีสภาพอย่างไร

ยังมีบางเรื่องที่คสช.ทำตัวเป็น “คู่ขัดแย้ง” กับฝ่ายการเมืองเสียเอง อย่างกรณีโครงการรับจำนำข้าว อภินิหารภาษีหุ้นชินคอร์ป การกวาดล้างจับกุม ผู้สนับสนุนการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่สมเหตุสมผล เป็นต้น

ขณะที่การสร้างความปรองดอง และการปฏิรูปประเทศ ที่คสช.ประกาศเป็นภารกิจสำคัญตั้งแต่ตอนทำรัฐประหาร ก็เพิ่งขยับลงมือทำในปลายปีที่ 3 ช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้ต้องลุ้นว่าจะเสร็จทันก่อนเลือกตั้งหรือไม่

ถ้าไม่เสร็จจะมีเลือกตั้งหรือไม่

สิ่งที่กัดกร่อนต้นทุนของคสช.มากที่สุด คือการที่มีหลายอย่างบ่งบอกว่า

ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้เกิดขึ้นชุกชุมเฉพาะแต่ในยุคที่นักการเมืองครองอำนาจเท่านั้น แถมยังมีปมปัญหาความกระจ่าง

เนื่องจากระบบการตรวจสอบไม่ทำงาน

อีกทั้งองค์กรตรวจสอบบางแห่งยังทำหน้าที่เป็น “สารฟอกขาว” ให้รัฐบาลอีกต่างหาก

เมื่อเร็วๆ นี้ จากการสำรวจของโพลบางสำนักชี้ถึง”จุดอ่อน”ของรัฐบาลคสช. พบว่า อันดับ 1 เรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ กระทบต่อ รายได้และรายจ่าย สินค้าแพง ค่าครองชีพสูง ต้องกู้หนี้ยืมสิน เป็นหนี้นอกระบบ ฯลฯ

อับดับ 2 การจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการออกกฎหมายข้อบังคับหลายอย่างที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ กระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน ฯลฯ

อันดับ 3 การใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมาก การจัดซื้อเรือดำน้ำ เพราะประเทศยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี อยากให้ช่วยเหลือประชาชนก่อน ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้ ฯลฯ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีปัญหาหลายเรื่องประเดประดัง ทั้งปัญหาชายแดนภาคใต้ปะทุรุนแรง มีการวางระเบิดคาร์บอมบ์ห้างสรรพสินค้ากลางเมืองปัตตานี มีคนเจ็บมากกว่า 60 คน

การลุกฮือของพยาบาลนับหมื่นคน ที่ไม่พอใจการที่ครม.ไม่อนุมัติบรรจุให้เป็นข้าราชการ ถึงขั้นขู่นัดลาออกยกกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 30 ก.ย.ปีนี้

ยังมีคดีค้ากามในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่พัวพันไปถึงข้าราชการหลายหน่วยงานและหลายระดับ

เป็นสัญญาณเตือนว่าคสช.ผ่านพ้นปีที่ 3 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 4 ด้วยบรรยากาศในบ้านเมืองที่ไม่ค่อยสดใสราบรื่นนัก

ในกรณีความเห็นของนักการเมืองค่ายต่างๆ นั้น คสช.และรัฐบาลอาจจะไม่จำเป็นต้องรับฟัง หากมองว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้ามที่ไม่มีทางพูดถึงผลงานด้านบวกอยู่แล้ว

แต่กับเสียงประชาชนที่สะท้อนผ่านช่องทางต่างๆ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องเปิดใจพิจารณารับฟัง เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขการทำงานให้ตรงใจประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศมากที่สุด

และเพื่อตัวคสช.ที่เมื่อถึงเวลาต้องลงจากอำนาจ จะได้ลงอย่างงดงามหรือไม่บอบช้ำจนเกินไปนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน