ลดดอกเบี้ยไม่พอ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ลดดอกเบี้ยไม่พอ – คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมเมื่อวันที่ 5 ก.พ. ว่า กนง. มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จากเดิม 1.25% ต่อปี มาอยู่ที่ 1% โดยให้มีผลทันที ซึ่งถือว่าต่ำสุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย

เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ จากผลกระทบไวรัสโคโรนา งบประมาณล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง

โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบ และช่วยสนับสนุนสภาพคล่องภาคธุรกิจ

และเอื้อต่อการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว

ประเด็นที่พึงพิจารณามีอยู่ด้วยกันสองข้อก็คือ ประการแรก มาตรการทางการเงินที่ออกมานี้ทันแก่กาลและทันการณ์หรือไม่ เพราะเสียงเรียกร้องให้ปรับลดดอกเบี้ยจากภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปนั้นดังระงมมาตั้งแต่ปีหรือสองปีก่อน

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจระดับโลก อาทิ สหรัฐหรือยุโรป ซึ่งใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเกือบเป็น 0 หรือใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ มาเป็นเวลากว่าปี

การปรับตัวของระบบการเงินไทยยังถือว่าช้า และอาจจะยังไม่พอเพียงที่จะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภายนอก

ลดดอกเบี้ยไม่พอ

และความอ่อนแอของโครงสร้างภายใน

ประการต่อมา ลำพังเฉพาะมาตรการการเงินไม่สามารถอุ้มชูเศรษฐกิจทั้งระบบให้ประคองหรือขยายตัวไปได้ หากจะต้องสอดประสานกับนโยบายอื่นๆ ด้วยกันของภาครัฐ ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การคลัง การเกษตร การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การอุตสาหกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยี

กนง. และธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะต้องใช้ความกล้าหาญออกมาแสดงความเห็นหรือเสนอแนะแนวทาง ทั้งต่อภาครัฐด้วยกันและภาคประชาชนให้มากขึ้น

ไม่แยกอยู่โดดเดี่ยวบนหอคอยงาช้างดังที่ผ่านมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน