เหตุการณ์ล้อมปรามนักศึกษาปัญญาชนอย่างโหดเหี้ยม กลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 เวียนมาครบ 40 ปี

816987

ภาพจากเพจ จารุพงษ์ ทองสินธุ์

โดยเฉพาะในปี 2559 นี้ ค่อนข้างใหญ่และพิเศษกว่าทุกปี จัดถึง 3 วัน 6-8 ต.ค. นอกจากพิธีทำบุญตักบาตร และรำลึกถึงผู้เสียชีวิต ที่ลานประติมากรรม 6 ตุลา 2519 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แล้วยังมีกิจกรรมและเสวนาต่างๆ อีกมากมาย

แต่เป็นที่น่าเสียดาย งานรำลึก 6 ตุลา ปีนี้ไม่มี นายจินดา ทองสินธุ์ บิดานายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ หนึ่งในนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เสียชีวิต แล้วถูกกลุ่มกระทิงแดง นวพล ลากศพไปกลางสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ เป็นภาพข่าวสลดเผยแพร่ไปทั่วโลก

1111

งานรำลึกเมื่อปี 2554

ตลอด 20 ปีหลัง นายจินดาต้องเดินทางมาร่วมพิธีและกล่าวรำลึกถึงผู้เสียชีวิต แทบเรียกได้ว่าเป็นตำนาน หรือสัญลักษณ์ในพิธีรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

นายจินดา หรือลุงจินดา ในวัย 93 ปี เสียชีวิตไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2559 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ที่ร.พ.สุราษฎร์ธานี

ภายหลังการฆ่าหมู่ในธรรมศาสตร์ และนายจารุพงษ์ ลูกชายเสียชีวิต จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้พบศพนายจารุพงษ์ ตลอดเวลาที่ผ่านมานายจินดา พร้อมด้วย นางลิ้ม ทองสินธุ์ ภรรยา พากันออกตามหาลูกชายภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

ดูภาพถ่ายลูกชาย

ดูภาพถ่ายลูกชาย

โดยทั้งคู่ย้ำมาตลอดว่าถ้ายังไม่พบศพ ก็ยังไม่เชื่อว่าลูกชายเสียชีวิต กระทั่งวันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี นายจินดาและภรรยาจึงเชื่อว่าลูกชายเสียชีวิตแล้ว ทั้งคู่จึงเดินทางจาก จ.สุราษฎร์ธานี มาร่วมงานและกล่าวรำลึก 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ ทุกปี

ก่อนหน้าที่นายจินดาและนางลิ้มเชื่อว่าลูกชายเสียชีวิต และเดินทางมาร่วมพิธีรำลึกที่ธรรมศาสตร์นั้น ในช่วงปีพ.ศ.2537-2538 ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด มีโอกาสเดินทางไปพบกับทั้งคู่ที่บ้านพักใน ต.อิปัน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อพูดคุยสัมภาษณ์ถึงการออกตามหาลูกชาย

scan0014

พร้อมทั้งมีโอกาสบันทึกภาพนายจินดา นางลิ้ม และลูกๆ ซึ่งเป็นน้องของนายจารุพงษ์ ไปทำบุญในวันที่ 6 ต.ค. จนกระทั่งก่อนงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ทั้งคู่เริ่มเชื่อแล้วว่าลูกชายเสียชีวิตในเหตุการณ์ฆ่าหมู่กลางธรรมศาสตร์

วันที่ 6 ต.ค.2539 จึงเป็นปีแรก และครั้งแรกที่นายจินดา ขณะนั้นอายุ 75 ปี กับนางลิ้มในวัย 64 ปี เดินทางมาร่วมงาน ทั้งคู่อยู่ในอาการโศกเศร้า

333ภาพข่าวในหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับ 7 ต.ค.2539

ในวันนั้น นางลิ้ม หรือป้าลิ้ม ให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้าว่า เมื่อก่อนไม่เชื่อว่าลูกตายไปแล้ว เพราะไม่เห็นศพ คิดว่าน่าจะรอดชีวิตแล้วหลบหนีเข้าป่าเหมือนเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ เพิ่งมารู้ว่าได้เสียชีวิตไปอย่างแน่นอนเมื่อวันที่ 5 ต.ค. (หมายถึง 5 ต.ค.2539)

ครอบครัวทองสินธุ์

ครอบครัวทองสินธุ์

เนื่องจากมีรุ่นน้องของลูกชายมาบอกว่าถูกยิงที่บริเวณสนามฟุตบอล ซึ่งรุ่นน้องคนนั้นยืนยันว่าได้เห็นเหตุการณ์ตลอด โดยในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ก็มีชาวบ้านมาบอกว่าเห็นลูกชายอยู่ที่นั่น อยู่ที่นี่บ้าง ในขณะนั้นเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

666

ป้าลิ้มเล่าต่อว่า หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ผ่านพ้นไป เคยมีจดหมายส่งมาจากเพื่อนลูกชายบอกว่า ไม่รู้ว่าลูกของแม่เป็นตายร้ายดีอย่างไร เพราะยังหาตัวไม่เจอ แต่พอหลังจากเหตุการณ์ 6 เดือน มีคนส่งบัตรประชาชนของลูกชายที่มีคราบเลือดติดอยู่มาให้ โดยคนที่ส่งมาให้บอกว่านำมาจากโรงพักชนะสงคราม และที่โรงพักยังมีบัตรประชาชนอยู่อีกประมาณ 2 ลังใหญ่

จนกระทั่งมีการจัดงานครั้งนี้ (หมายถึงรำลึก 6 ตุลา เมื่อปี 2539) มีเพื่อนของลูกโทรศัพท์มาหาบอกว่าจะใช้ชื่อของลูกชายเป็นชื่อห้องประชุมเพื่อเป็นอนุสรณ์ และขอให้มาร่วมงานนี้ จึงเดินทางมาจากบ้านที่ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมทั้งนำรูปถ่ายมาด้วย ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะทอดกฐินทุกปี ทำบุญให้เขาเสมอมา บรรดาข้าวของเครื่องใช้ยังอยู่ครบ แต่เก็บเอาไว้ ไม่ได้นำมาตั้งให้เห็น เพราะเห็นแล้วไม่สบายใจ

 

ลุงจินดา (ซ้าย) ร่วมงานรำลึก 6 ตุลา

ลุงจินดา (ซ้าย) ร่วมงานรำลึก 6 ตุลา

แม่ผู้สูญเสียเล่าอีกว่า ช่วงสุดท้ายที่เห็นลูกชายคือวันที่ 25 ก.ย.2519 ขณะนั้นเดินทางมากรุงเทพฯ มาหาลูกที่หอพัก พอถึงวันที่ 28 ก.ย. ก็เตรียมเดินทางกลับบ้านที่ จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนั้นเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์เริ่มรุนแรงแล้ว จึงบอกกับลูกว่าให้กลับบ้านพร้อมกับแม่เลย แต่ลูกไม่ยอม บอกว่าจะสอบในวันที่ 6 ต.ค. เมื่อสอบเสร็จแล้วจะกลับบ้าน เขายังบอกอีกว่าจะไม่ทำให้แม่ผิดหวัง และในวันนั้นเขาไปส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพง นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เจอกัน

“ทุกวันนี้แม่อยู่ไม่เป็นสุข บอกไม่ถูก ลูกอยู่ดีๆ ก็มาเป็นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าอย่างไร มาตามหาที่ธรรมศาสตร์ก็ไม่มี เขาเอาไปทิ้งที่ไหน ถ้าเสียชีวิตแล้วทำไมเขาไม่เก็บศพมาให้เรา คนอื่นเขายังได้คืน แต่เราไม่ได้ ไม่นึกเลยว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ มันเจ็บปวดอยู่ที่ใจ ร้าวในหัวใจตลอดเวลา ไม่มีความสุข คนที่ทำบาปนะ ไม่คิดถึงว่าเป็นลูกใคร ทำให้ครอบครัวเขาเดือดร้อนเสียหายยังไง ทำไมเขาไม่คิดและไม่ทำตามกฎหมาย คนเป็นแม่ก็ต้องปวดร้าว ไม่คิดเลยคนที่ทำเป็นเดรัจฉานไปแล้ว” นางลิ้มกล่าว

ทำบุญให้ลูกชาย

ทำบุญให้ลูกชาย

ขณะที่นายจินดา ผู้เป็นพ่อให้สัมภาษณ์ในวันนั้นว่า เสียดายจากการจากไปของลูก แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆ ของเขาจัดงานขึ้นอย่างนี้ก็ชื่นใจขึ้นมาบ้าง เพราะเขาไปดี ทำประโยชน์ให้กับสังคม ให้กับเพื่อน สถาบัน และคนรุ่นหลัง เพื่อจะได้สานงานต่อไป เพราะทราบว่าจะมีการทำห้องประชุมใช้ชื่อว่าจารุพงษ์ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี นักศึกษารุ่นใหม่จะได้รู้จักความเป็นมาของผู้สละชีพ

หลังจากนั้น นายจินดาและนางลิ้มจะมาร่วมพิธีรำลึก 6 ตุลา ที่ธรรมศาสตร์ทุกปี กระทั่งนายจินดาลาลับไปในวัย 93 ปี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
จากไปท่ามกลางความจริง และประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ยังมิได้ถูกชำระสะสาง
บรรดาผู้สั่งการ ผู้สมคบคิดวางแผน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มมวลชนผู้ร่วมฆ่าไม่เคยต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน