คอลัมน์ รายงานปทุมวัน

เป็นประเด็นถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ ที่หลายฝ่ายต้องการให้มีการปฏิรูป ปรับปรุงโครงสร้าง

ด้วยเหตุผลและเป้าหมายต่างๆ กัน

มีทั้งเจตนาเพื่อให้ตำรวจอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ทรงประสิทธิภาพมากขึ้น

มีทั้งเจตนาจะทำให้ตำรวจหมดเขี้ยวเล็บไร้อำนาจ

ไม่ว่าจะอย่างไร องค์กรตำรวจก็คงต้องมาถึงจุดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง

เมื่อมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

เป็นเหตุให้หลายฝ่ายมีข้อเสนอให้ได้พิจารณา

ปฏิรูปตร.-ย้ายสังกัดยธ.

สำหรับการปฏิรูปตำรวจ มีการพูดถึงกันมาตลอด โดยภายในองค์กรตำรวจเองก็เดินหน้าปรับปรุงงานในหน้าที่ตัวเองไปแล้วบ้างบางส่วน

ตั้งแต่สมัยที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ก็เดินหน้าอย่างเต็มที่ ภายในการสั่งการของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.

ที่วางแนวทางปฏิรูปไว้ 10 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ปฏิรูป การบริหารงานบุคคลและเส้นทางเจริญเติบโต 2.การปฏิรูปกระจายอำนาจและพัฒนาการบริหารงานตำรวจ 3.การปฏิรูประบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย 4.การปฏิรูปค่าตอบแทนและสวัสดิการ

6.ปฏิรูปป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น 7.ปฏิรูปการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น 8.ปฏิรูประบบงานนิติวิทยาศาสตร์ 9.ปฏิรูปการสรรหาและฝึกอบรม และ10.ปฏิรูปการถ่ายโอนภารกิจ

แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ระยะเร่งด่วน 1 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 20 ปี เริ่มต้นนำร่อง 514 โรงพักทั่วประเทศ และเดินหน้าปรับปรุงต่อในอีก 968 แห่ง

ปรับปรุงระบบงานสอบสวน การรับแจ้งความ และงานนิติวิทยาศาสตร์ ให้มีชุดตรวจสถานที่เกิดเหตุของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการเก็บรวบรวมหลักฐาน

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็ยังคงไม่เพียงพอ เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 260 กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และต้องเห็นผลใน 1 ปี

ซึ่งตำรวจก็เป็นหน่วยงานที่ถูกจับตามองและเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 พ.ค. พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็แถลงรายงานการปฏิรูปตำรวจ

ระบุว่า คณะอนุกรรมการเห็นว่าองค์กรตำรวจควรปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญามารวมอยู่ภายใต้รัฐมนตรีคนเดียวกัน และให้การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล จะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

สเป๊กเข้มผบ.-เพิ่มเงินเดือน

สำหรับตำแหน่งผบ.ตร. ก็ปรับปรุงให้มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยใช้หลักเกณฑ์ ต้องผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี

ขณะเดียวกันจะปรับปรุงเงินเดือนตำรวจให้เพียงพอต่อดำรงชีพ เพื่อให้เลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน สามารถปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามคนร้าย และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างไม่มีความกังวลและห่วงใย

ทั้งนี้สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่คือการขาดแคลนงบประมาณ เช่น เมื่อเกิดคดีที่ต้องติดตามคนร้ายหรือคดีที่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่มีงบประมาณส่วนนี้ หลายครั้งตำรวจต้องออกเงินกันเอง เป็นการผลักตำรวจไปอยู่ในพื้นที่สีเทา

โดยเสนอให้ปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ ของข้าราชการตำรวจ ให้แตกต่างจากข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ สูงกว่าข้าราชการพลเรือนถึง 13.56-22.57 เท่า

จึงเสนอให้ใช้อัตราอ้างอิงในต่างประเทศที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญในระดับเดียวกัน 1.28 เท่า ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 1.74 เท่า

โดยข้าราชการตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท ขณะที่ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท

และควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจร และสายงานสืบสวนที่มีความเสี่ยงการปฏิบัติงานสูงกว่าตำรวจสายงานอำนวยการ

ส่วนการติดตั้งซีซีทีวี ช่วยติดตามคนร้ายอีกทางหนึ่งเหมือนต่างประเทศที่ติดตั้งซีซีทีวีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ของไทยมีความซ้ำซ้อน เพราะเป็นการติดตั้งโดยหลายหน่วยงาน จึงอยากให้โอนให้ทางตำรวจรับผิดชอบเพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาไอทีออนไลน์ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ด้วยตนเอง

ส่วนการปฏิรูประบบงานสอบสวนเสนอให้ปรับระบบการเข้าเวรของพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจจากเดิมเข้าเวรเดี่ยว เป็นเข้าเวรเป็นชุดพนักงานสอบสวน และควรแยกคดีที่ต้องสืบสวนสอบสวนเป็นกรณีพิเศษออกจากการสืบสวนสอบสวนทั่วไป

จำพวกคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน คดีผู้มีอิทธิพล คดีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูงเฉพาะทาง เพื่อให้หน่วยงานจากส่วนกลางมารับผิดชอบแทน ตลอดจนให้มีเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับข้าราชการในสายงานตามกระบวนการยุติธรรมอื่น เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อัยการ

ส่งให้ครม.พิจารณาเรียบร้อย

ตำรวจไม่ค้าน-อยู่ไหนก็ได้

ขณะที่ท่าทีของตำรวจนั้น พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกตร. ระบุว่าในฐานะองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าแนวคิดดังกล่าว เป็นแนวคิดที่ผ่านการศึกษามาแล้วว่าตำรวจในอนาคตควรจะเป็นแบบใด ซึ่งมีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนไปแล้ว

ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ในฐานะเป็นตำรวจ ก็พร้อมเสมอ เมื่อคณะรัฐบาลมีความเห็นว่าจะให้เราปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบใด เราก็ยังคงเป็นผู้รักษากฎหมายเช่นเดิม รูปแบบไหนเราก็ยินดีน้อมรับหมด ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

ส่วนอำนาจหน้าที่ตำรวจก็ยังเป็นเช่นเดิมตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีอะไรกระทบเลย การดำเนินการใดๆ คำนึงถึงความยุติธรรมอยู่แล้ว แม้กระทรวงยุติธรรมจะมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไออยู่แต่อำนาจการสอบสวนแตกต่างกันคดีในอำนาจสอบสวนของตำรวจตำรวจก็ดำเนินการ อะไรที่เป็นคดีพิเศษดีเอสไอก็ดำเนินการไป

ขอให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้งดีกว่า ถ้าบอกว่าประชาชนได้ประโยชน์มากกว่าก็ถูกต้องเลย ส่วนแนวคิดจะดีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา

เราทำอยู่แบบทุกวันนี้เราก็ว่าดี แต่ในเมื่อผู้บังคับบัญชาเห็นว่าควรปรับ เราก็รับได้หมด ถือเป็นนโยบายรัฐบาลก็ต้องดำเนินการไปในส่วนไหน รูปแบบจะออกมาอย่างไร ตำรวจรับได้หมด มั่นใจว่าไม่มีแรงต้าน ก็ไม่เห็นมีใครออกมาต้าน

เมื่อผู้บริหารเห็นควรอย่างไรเราก็ต้องดำเนินการโดยเชื่อว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนประชาชนก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการพิจารณาว่าตำรวจควรขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ก็ถือเป็นนโยบายที่ต้องปฏิบัติตาม

ส่วนการกำหนดให้ผบ.ตร.ต้องผ่านการทำสำนวนคดีมาก่อน 2 ปี 70 สำนวน ก็เป็นหลักการ ต้องถามว่าถ้ามีประสบการณ์รอบรู้มันดีหรือไม่ ถ้าดีก็ดี อย่าไปคิดว่ามาจากสมมติฐานว่าผบ.ตร.ที่ผ่านมาไม่มีประสบการณ์การสอบสวน และเชื่อว่านี่ไม่ใช่การล็อกสเป๊กผบ.ตร.ในอนาคตแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ก็ยังเป็นเพียงข้อเสนอ

ซึ่งต้องผ่านการเห็นชอบจากครม. ก่อนนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา

เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน