รายงานพิเศษ

หมายเหตุ : นายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวสุนทรคาถาหัวข้อ “40 ปี เปลี่ยนผ่านประเทศไทย : 40 ปี เปลี่ยน-40 ปี ไม่ผ่าน” ในงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลา 19 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม มีเนื้อหาดังนี้

ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองไทยปกติหรือไม่ การจัดงานรำลึก 6 ตุลาคมปีนี้อาจเหมือนวาระสำคัญ 40 ปีผ่านไป ความทรงจำของ 6 ตุลากลายเป็นปัญหาโดยตัวเอง ประวัติศาสตร์ชุดนี้เหมือนถูกลืม เป็นประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ

แต่หลายปีนี้เริ่มเห็นหลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น ภาพจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกเปิดเผย เพื่อนหลายคนพยายามค้นหาว่าที่จริงมีผู้เสียชีวิตถูกผูกคอที่ต้นมะขามสนามหลวงกี่คน ตอนแรกเชื่อว่ามี 1 คน แต่วันนี้พบว่าอาจมีถึง 4-5 คน ทำให้เหมือนว่า 6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกปกปิด

ครบรอบ 40 ปี เราได้เห็นการเดินทางของการเมืองไทยที่เปรียบเหมือนรถไฟ ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูงหรือความเร็วปกติ แต่เหมือนรถไฟ 2 รูปแบบ

1.รถไฟเด็กเล่นที่วิ่งวนไปมา การวิ่งไปข้างหน้าเป็นเพียงบอกว่าในที่สุดแล้วรถไฟจะวิ่งกลับมาที่เดิม บอกเราว่าการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่หลักประกันที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางการเมือง ไม่นำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตย แต่เป็นหลักประกันที่ดีสำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยม ที่เชื่อว่าท้ายที่สุดการเมืองไทยจะไม่พัฒนาและอยู่ภายใต้การควบคุมของเขา

2.การเปลี่ยนผ่าน 40 ปีไม่ต่างจากรถไฟเหาะในสวนสนุก วิ่งขึ้นลง เมื่อวิ่งถึงจุดสูงสุดก็จะวิ่งลงถึงจุดต่ำสุด ถ้ารถไฟการเมืองไทยวิ่งอย่างนี้ เมื่อขึ้นถึงจุดสูงสุดในระยะเวลาไม่นานเราจะเห็นรถไฟทิ้งดิ่งกลับมาลงจุดต่ำสุด

รูปลักษณ์ 2 แบบนี้บ่งบอกเราว่านี่ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านแค่ 40 ปี แต่เราต้องถอยไปสู่การเปลี่ยนผ่านปี 2475 ปี 2516

ในทางรัฐศาสตร์มักสอนว่า รัฐประหาร รัฐบาลทหาร เป็นข้อยกเว้นหนึ่งทางการเมือง ไม่ใช่กฎ แต่เมื่อนั่งมองการเมืองไทยอย่างยาวนาน เริ่มรู้สึกว่ารัฐประหาร รัฐบาลทหาร เริ่มจะกลายเป็นกฎมากกว่าข้อยกเว้น

ปรากฏการณ์รถไฟที่เราเห็นในการเมืองไทยทั้งที่วิ่งเป็นวงกลมหรือวิ่งขึ้นลงนั้นมีอัตราไม่ต่างกัน เพราะท้ายสุดแล้วพัฒนาการการเมืองไทยจะจบลงที่การรัฐประหาร

6 ตุลา 19 อาจต่างจากทุกครั้งเพราะมีการใช้กำลังขนาดใหญ่จัดการกับผู้เห็นต่าง แต่คนในปัจจุบันอาจไม่เห็นความแตกต่างระหว่างปี 2519 กับปี 2553 ต้นไม้หน้าธรรมศาสตร์ไม่ได้มีไว้ให้ร่มแต่มีไว้แขวนคอคน พื้นที่นี้ไม่ใช่แค่สถานศึกษา เช้าวันที่ 6 ตุลา มันคือพื้นที่สังหาร ภาพสุดท้ายที่เห็นก่อนออกจากธรรมศาสตร์มีเพื่อน 3 คนนอนไร้ลมหายใจอยู่ที่หัวมุมหอประชุม

ทำให้เห็นคำตอบว่ารัฐใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้เห็นต่าง เราอาจตกใจกับบางภาพที่เห็นคนหัวเราะที่เห็นคนโดนแขวนคอ นี่ไม่ใช่ละครเล่นเอาสนุก ไม่ใช่มายากลปลุกชีพกลับคืนมาได้ แต่บอกเราว่าปี 2519 ถ้าจะเป็นบทเรียนกับคนรุ่นหลังได้บ้าง คือ การฆ่าและการสังหารหมู่ในท้ายที่สุดแล้วไม่ได้ให้ผลตอบแทนอะไร

ผลพวงหลังการสังหารหมู่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุด ลูกหลานชนชั้นกลางที่เข้าร่วมประท้วงตัดสินใจทิ้งห้องเรียน เพื่อนหลายคนวางปากกาไปจับปืนต่อสู้ในชนบท

เหตุการณ์ 6 ตุลาและการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลขวาจัดเป็นเครื่องมือหาสมาชิกให้พรรคคอมมิวนิสต์ นโยบายการใช้ความรุนแรงของรัฐไม่ได้ให้ผลการตอบแทนอย่างที่รัฐคิด
ท้ายที่สุดความรุนแรงได้สร้างแนวร่วมมุมกลับ สงครามของรัฐสร้างแนวร่วมให้พรรคคอมมิวนิสต์

6 ตุลาถ้าจะเป็นสติกับคนรุ่นหลังและคนมีอำนาจในยุคปัจจุบันบ้าง จะเห็นว่ามีการปลุกระดมใส่ร้ายป้ายสีครั้งใหญ่ เกิดกระบวนการสร้างความเป็นข้าศึกภายในรัฐ

ในปี 2518 เวียดนามแตก กัมพูชาแตก ลาวแตก มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานการณ์ที่บีบคั้นชนชั้นผู้นำทหารและฝ่ายอนุรักษนิยมใช้ชีวิตด้วยความกลัวจากการล้มลงของหมากโดมิโน 3 ตัว ในอินโดจีน และเชื่อว่าโดมิโนตัวที่ 4 จะล้มลงที่กรุงเทพฯ

ประกอบกับขบวนการนักศึกษาขยายใหญ่ขึ้น หลัง 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาได้ชื่อเป็นฝ่ายซ้ายแต่ไม่ใช่ทั้งหมด มองว่าผสมด้วยความคิด 3 ชุด คือ อุดมคตินิยม เสรีนิยมผูกกับประชาธิปไตย และปฏิเสธไม่ได้ว่านักศึกษาเริ่มรับแนวคิดสังคมนิยม แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นขบวนสังคมนิยมทั้งหมดอย่างที่ชนชั้นผู้ปกครองขณะนั้นหวาดกลัว

การขยายตัวของกิจกรรมของนักศึกษาสร้างความหวาดกลัวให้ชนชั้นผู้ปกครอง จากปี 2518-2519 นักศึกษาเริ่มรู้ว่าขบวนรถไฟการเมืองไทยเริ่มทิ่มหัวลง เราไม่รู้ว่าการเริ่มต้นต่อต้านฐานทัพสหรัฐจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของขบวนการนักศึกษา

ความกลัวของชนชั้นนำ ผู้นำทหารและกลุ่มอนุรักษ นิยมเพิ่มมากขึ้นจึงต้องยุติบทบาทของนักศึกษาในเมือง เช้าวันนั้นเราเชื่อว่าที่สุดแล้วอาจถูกปิดล้อมและจับกุม ไม่มีจินตภาพถึงความโหดร้ายในรุ่งสางวันที่ 6 เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ ไม่เคยประเมิน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้วันนี้มีคำถามหลายอย่างในเชิงข้อมูล

40 ปีผ่านไปการต่อสู้คนรุ่น 14 ตุลาเป็นแบบเรียนในหนังสือ แต่ไม่ปรากฏเรื่องราวของ 6 ตุลา กลายเป็นความทรงจำที่รางเลือน เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม ถูกปกปิด เป็นการฆ่าที่ถูกซุกไว้มุมมืด

การจัดงานวันนี้ถ้าจะมีประโยชน์ ขอย้ำอีกครั้งการฆ่าโดยรัฐไม่ใช่คำตอบ การใช้ความรุนแรงของรัฐไม่ใช่การแก้ปัญหา ผลสะท้อนที่กลับมาจะส่งผลยาวนาน

การปลุกระดมใส่ร้ายป้ายสี นำสู่การแตกแยกขนาดใหญ่จบลงด้วยการฆ่าปี 2519 โชคดีที่การปลุกระดมไม่นำไปสู่สงครามกลางเมือง มิเช่นนั้นก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าโดมิโนตัวที่ 4 จะล้มลงที่กรุงเทพฯหรือหากเหตุวันนั้นยังขยายตัวไม่หยุด อาจไม่แตกต่างจากสงครามในลิเบีย ซีเรีย

แน่นอน 40 ปีที่ผ่านมา บทเรียนจะถูกทิ้งไว้ให้คนรุ่นปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่มีจุดสิ้นสุด การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพไม่มีขีดจำกัด คบเพลิงการต่อสู้คนรุ่น 14 ตุลา 6 ตุลา กำลังส่งต่อสู่คนรุ่นใหม่

จากการที่รัฐบาลส่งองค์ปาฐกงานเสวนาที่จุฬาฯเย็นวันนี้ (6 ต.ค.) กลับฮ่องกง คือตัวอย่างว่า คนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจเข้ามาสู้เริ่มบอกชัดว่าคบเพลิงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยส่งผ่านจากมือคนรุ่นผมสู่มือคนรุ่นใหม่แล้ว

สิ่งที่ต้องคิดคือ อนาคตสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร

ความแตกแยกทางการเมืองตอนนี้ไม่ต่างจาก 2519 แต่ครั้งนั้นโชคดีความรุนแรงยุติลงจากเพลงเดือนเพ็ญที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความปรองดอง ถูกเขียนโดยนายอัศนี พลจันทร์ ในฐานที่มั่น

แต่ไม่มั่นใจว่าหลังปี 2553 อะไรคือสัญลักษณ์ของความปรองดอง

อยากฝากถึงคนรุ่นหลัง วันนี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมีเงื่อนไขทั้งบวกและลบ มีเงื่อนไขที่ดีกว่าคนรุ่นก่อน ซึ่งนึกไม่ออกว่าหากปี 2519 มีโซเชี่ยลมีเดียแล้วการฆ่าจะหนักขึ้นหรือเบาลง

แต่วันนี้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ สื่อสมัยใหม่กลายป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นการเข้าต่อสู้ด้วยเงื่อนไขที่ดีกว่า แต่เงื่อนไขที่ไม่แตกต่างคือจะทำอย่างไรให้มีการสร้างเงื่อนไขในการพัฒนาการเมืองไทย

เงื่อนไขแรกของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย คือ military exit หรือ mixit คือต้องเอาทหารออกจากการเมือง ถ้าเอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้ไม่ต้องพูดเรื่องประชาธิปไตย ถ้าเอาทหารกลับกรมกองไม่ได้ ประชาธิปไตยที่พูดถึงจะวิ่งเป็นวงกลมเหมือนรางรถไฟ เงื่อนไขนี้ท้าทายอย่างยิ่งตั้งแต่ยุค 2475 ถึงปัจจุบัน

เงื่อนไขที่สอง หากพาทหารกลับเข้ากรม อำนาจนอกระบบต้องยอมปล่อยให้การเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติ ทำรัฐสภาให้เป็นรัฐสภา ศาลเป็นศาล รัฐบาลเป็นรัฐบาล ทั้งสามส่วนนี้ต้องอยู่ภายใต้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่ใช่ภาวะตรวจจับและทำลายดุลเพราะโครงสร้างของรัฐบาลจะรองรับอะไรไม่ได้เลย

เหมือนที่กำลังจะเห็นในอนาคต ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอบเราว่าไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลก็จะถูกครอบ ถูกกดทับด้วยยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนร่าง ไม่รู้ว่าคนร่างมีความรู้มากเพียงใด

เงื่อนไขที่สาม การเมืองไทยต้องการเวลาการพัฒนา ตอนนี้เราอยากเห็นทุกอย่างเร็วเหมือนสมาร์ตโฟน แต่พัฒนาการทางการเมืองไม่อาจเกิดขึ้นได้เร็ว การสร้างระบบการเมืองที่แข็งแรงมีเสถียรภาพต้องการเวลา ต้องการการอดทน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกที่ผ่านรอยเลือด คราบน้ำตาและหยาดเหงื่อ ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนได้มาโดยง่าย

ทำอย่างไรที่คนในสังคมไทยและผู้มีอำนาจจะอดทนต่อการพ่ายแพ้และไม่พอใจ อดทนต่อการเมืองที่อยู่ในระบบ ยุติความหวาดกลัวทางการเมือง ยอมรับว่าความพ่ายแพ้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการทำลายการเมืองทั้งระบบ

วันนี้ประชาธิปไตยไทยต้องการการคุย ต้องไม่กล่าวโทษชี้นิ้วด่ากัน แต่ต้องคิดถึงอนาคต อาจไม่เห็นตรงกันแต่ต้องเห็นอนาคตสังคมไทยร่วมกัน ต้องพาสังคมไทยก้าวข้ามปัญหาและความขัดแย้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน