ฉุดเครดิตผลงานด้านความมั่นคงลดลงฮวบฮาบ

กรณีเหตุระเบิดภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ช่วงกลางวันแสกๆ ของวันที่ 22 พฤษภาคม

ไม่ต้องรอให้ควันระเบิดจางก็เห็นภาพชัดเจน ว่าแรงจูงใจมาจากการเมืองแน่นอน

ไม่ว่าการเลือกวันเวลาตรงกับวาระครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร และสถานที่เป้าหมายการลงมืออย่างห้องวงษ์สุวรรณ ภายในโรงพยาบาลซึ่งเป็นพื้นที่ทหาร

ทีมงานไปป์บอมบ์จงใจส่งสัญญาณลูบคม ท้าทายอำนาจรัฐบาล คสช. และกองทัพโดยตรง ในบรรยากาศการเมืองเดินเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายโรดแม็ปเลือกตั้ง

เศษชิ้นส่วนไอซีไทเมอร์ที่พบในจุดเกิดเหตุ

นอกจากเป็นลักษณะเฉพาะบ่งบอกถึงชนิดระเบิดที่ใช้ ว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องแบบไปป์บอมบ์ จุดชนวนด้วยการตั้งเวลา

ยังเชื่อมโยงไปถึงเหตุระเบิดหน้ากองสลากเก่า เมื่อวันที่ 5 เมษายน เหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ ใกล้สนามหลวง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม และล่าสุดระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

น่าจะมาจากฝีมือคนในขบวนการเดียวกัน

ทั้งยังมีส่วนคล้ายกับระเบิดก่อกวนทางการเมืองเมื่อปี 2550 ในยุครัฐบาลขิงแก่ บริเวณหน้าห้างเมเจอร์ รัชโยธิน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก และซอยราชวิถี 26

ทั้งหมดยังไม่รู้ตัวผู้กระทำ

เพียงแต่ระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ยกระดับขึ้นจากระเบิดหน้ากองสลากเก่า และหน้าโรงละครแห่งชาติ ที่หวังผลแค่ก่อกวนสถานการณ์ ให้ประชาชนตื่นตระหนก

มาเป็นหวังผลมุ่งเอาชีวิต

เพราะมีการใช้ตะปูมาเป็นส่วนประกอบของระเบิด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 25 คน

เป็นเรื่องที่สังคมต้องเฝ้าระมัดระวัง และจับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการสืบสวนคลี่คลายคดี หาตัวคนกระทำผิดมาลงโทษให้ได้

แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับคดีประเภทนี้ก็ตาม

กรณีระเบิดกรุง 3 ลูกในปี 2560 ล่าสุด ดูเหมือนตำรวจ-ทหารยังคลำเป้าได้ไม่ชัด

แต่ขณะเดียวกันมีการปล่อยข้อมูลเบื้องหลังเบื้องลึก ให้เป็นข่าวสะพัด ถึงตัวบุคคลในข่ายต้องสงสัยเฝ้าระวัง

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมีทั้ง 3 นายพลทหารนอกราชการชื่อย่อ “พ.-ช.-ม.” ที่เกษียณราชการไปแล้วหลายปี

ลูกน้องพันเอก “เสธ.คนดัง”

รวมถึงขบวนการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการยกระดับแสดงแสนยานุภาพในเมืองหลวง ก็มีความเป็นไปได้

โดยมีต้นตอจากหลักฐานจดหมายเตือนลงชื่อ “โจรกลับใจ” ให้ระวังกลุ่มบีอาร์เอ็นและไอเอส ลัดเลาะจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางเข้ากรุงเตรียมก่อเหตุ เป้าหมายโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่งใจกลางเมือง

ซึ่งบังเอิญตรงกับช่วงเหตุการณ์ช็อกโลกเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ พัวพันมาถึงประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ยิ่งตอกย้ำความหวาดผวา

แต่นั่นไม่ฮือฮาเท่ากับที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และเลขาธิการคสช. ออกมาเปิดโผเป้าหมายกลุ่มต้องสงสัย ที่มีศักยภาพพอจะก่อเหตุทำนองนี้ได้

ยอมรับว่ามีชื่อของ “โกตี๋” วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แกนนำแดงปทุมฯ ซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีคดีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมอยู่ด้วย แต่ก็เป็นเพียงผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัย

ซึ่งจะว่าไปแล้วเป้าหมายที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” นำมาเปิดเผยก็ขยายความจากข้อมูลที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เคยให้สัมภาษณ์ตามรายงานที่ได้รับจากฝ่ายความมั่นคง

มีทั้งบุคคลภายในและนอกประเทศอยู่เบื้องหลัง

ถึงกระนั้นก็ไม่อาจมองข้ามข้อมูลเดิมของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ในฐานะ “พี่ใหญ่คสช.”

เคยแย้มไว้เมื่อตอนเหตุระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ ว่าฝ่ายความมั่นคงอยู่ระหว่างจับตากลุ่มคนไม่หวังดีต่อรัฐบาล

ซึ่งมีทั้งฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกันกับรัฐบาล

ต่อเหตุระเบิดสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมืองในยุคสมัยรัฐบาลคสช.

ประชาชนในสังคมต่างตั้งความหวังว่าในที่สุดเจ้าหน้าที่จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐาน นำไปสู่การจับกุมตัวคนร้ายมารับโทษตามกฎหมายได้

และก็คาดหวังด้วยเช่นกันว่า การไปถึงจุดนั้น เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน ยัดเยียดความผิดให้ฝ่ายตรงข้ามทาง การเมือง หรือมีคดีร้ายแรงอื่นติดตัวอยู่ก่อน

ที่สำคัญต้องไม่มีใครฉวยโอกาสจากเหตุการณ์ มาสร้างเป็นเงื่อนไขอย่างอื่น เหมือนที่สังคมการเมืองขณะนี้ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ต่อประโยคคำพูดที่ว่า

“หากบ้านเมืองไม่สงบ ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง”

ซึ่งก่อให้เกิดผลตามมา 2 ทาง ทางหนึ่งทำให้มองได้ว่า คนที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากได้รับผลประโยชน์จากการรัฐประหาร คือคนที่ก่อเหตุทำให้บ้านเมืองเกิดความไม่สงบเสียเอง

เพื่อให้ประเทศอยู่ในภาวะ “แช่แข็ง” ประชาธิปไตยเหมือนปัจจุบัน เพื่อสืบสานภารกิจบางอย่างไปอีกนานๆ

อีกทางหนึ่ง ประโยค “หากบ้านเมืองไม่สงบ ก็ยังไม่มีการเลือกตั้ง” ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนานาประเทศที่มีต่อไทยและตัวผู้นำ ว่ามีความพยายามนำพาประเทศกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย

ตามที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาคมโลกจริงหรือไม่

หรือในทางตรงข้ามคอยแต่จะฉกฉวยสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นเหตุยืดขยายเส้นทางนั้นออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าการลงทุนอย่างมากเช่นกัน

ที่ผ่านมาปัญหาความไม่สงบในประเทศ ถูกหยิบมาเป็นเหตุผลข้อหลักของคสช.ในการอธิบายถึงการทำรัฐประหาร 22 พฤษภาฯ 2557

แม้แต่ในวาระครบรอบ 3 ปี คสช.ก็ยังนำเรื่องการสร้างความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยให้ประเทศ มาเชิดชูให้เป็นผลงานที่มีความโดดเด่นมากที่สุด โพลหลายสำนักก็สำรวจออกมาตรงกัน

จึงเป็นข้อชี้ชัดได้อย่างหนึ่ง ว่าความสงบเรียบร้อยในประเทศกับเรื่องการเลือกตั้ง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน

กล่าวอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าจะมีระเบิดหรือไม่มีระเบิด ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเลื่อนหรือไม่เลื่อนเลือกตั้ง ถึงจะยังมีระเบิดอีกกี่ลูก แต่ก็ยังต้องมีการเลือกตั้งอยู่ดี

ถึงแม้ว่าการคลี่คลายคดีอย่างตรงไปตรงมา จนกระทั่งสามารถจับกุมตัวผู้ก่อเหตุระเบิดมาลงโทษ จะทำให้รัฐบาลเรียกเครดิตจากประชาชนกลับคืนมาได้บางส่วน

แต่การถือโอกาสนำเรื่องความไม่สงบมาเป็นเงื่อนไขในการขยายโรดแม็ปเลือกตั้งออกไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด

อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศมากกว่าระเบิดลูกใดๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน