คอลัมน์ รายงานพิเศษ

เสนอไอเดียอุดช่องรัฐธรรมนูญปูทาง“นายกรัฐมนตรีคนนอก”

พิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะให้ 4 พรรคหลัก คือ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย ต้องสงบศึก แต่หันมา ผนึกกำลังกันต่อสู้กับพรรคทหาร

ต่างคนต่างหาเสียงตามนโยบายพรรค เมื่อผลเลือกตั้งออกมาต้องพร้อมสนับสนุนพรรคชนะได้เป็นนายกฯ

ในมุมมองของแกนนำทั้ง 4 พรรค มองเรื่องนี้อย่างไร โอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

จุติ ไกรฤกษ์

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ไม่เชื่อว่าโมเดล 4 พรรคการเมืองจะทำได้ในยุคนี้ เพราะประชาชนวันนี้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และมองว่าพรรคการเมือง ต้องปรับทัศนคติตนเองใหม่ วันนี้ประชาชนไม่ฟังเรื่องการเมือง แต่เข้าสนใจและอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาเรื่อง ปากท้อง ดังนั้นจึงอยากแนะนำว่า คสช.อย่าไปห่วงเรื่องการเมืองควรรีบเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประเทศ

หากถามว่าทหารตั้งพรรคจริงแล้วเราจะสู้อย่างไร คิดว่ามีแต่ ผู้แอบอ้างว่าเป็นพรรคของทหาร แต่เอาเข้าจริงแล้วในพื้นที่ก็ไม่ใช่ของจริง เป็นพรรคกำมะลอที่หลอกชาวบ้านไปวันๆ วันนี้ถึงบอกว่าคนที่ทำอย่างนั้นต้องไปปรับทัศนคติตนเองใหม่ เพราะชาวบ้านฉลาดกว่าที่คุณคิด ถ้าคุณลงพื้นที่จริงๆ ก็จะรู้ว่าเป็นอย่างไร

ส่วนตัวจึงไม่เชื่อว่าทหารตัวจริงจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาและวันนี้ก็พิสูจน์แล้ว ยังไม่เห็นว่าทหารคนไหนตั้งพรรคการเมือง มีแต่อ้างเป็นทหารกำมะลอ และพรรคการเมืองกำมะลอไปหลอกชาวบ้าน

ส่วนความเป็นไปได้ที่ 4 พรรคใหญ่จะจับมือกันทำงานการเมืองนั้น อยากชวน 4 พรรคให้มาช่วยกันต่อสู้ และคิดหาทางออก แก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชนจะสร้างสรรค์กว่า

และบอกได้เลยว่าพรรคประชาธิปัตย์ ห่วงปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนมากกว่าห่วงปัญหาการเมือง เพราะปัญหาปากท้อง ของ พี่น้องประชาชนมาก่อน ถึงอย่างไรเรา ก็ตกงานมาแล้ว 3 ปี แต่เราอยากให้ชาวบ้าน มีงานทำ มีเงินใช้

การเสนอโมเดล 4 พรรคสู้กับทหารของนายพิชัย มองด้วยความเคารพ แต่ความคิดเห็นส่วนตัวอาจแตกต่าง นายพิชัยมีความหวังดีกับประเทศชาติแน่นอนแต่ต่าง คนก็มองต่างมุม จึงอยากให้ทุกพรรคคิดว่าเห็นต่างกันได้แต่ขอร้องว่า อย่าให้ประเทศแตกแยก เพราะประเทศบอบช้ำมาพอแล้ว เราควรมาสุมหัวช่วยกันคิดหาทางออกเรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนดีกว่า และถ้าทุกพรรคนำเสนอทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจเชื่อว่า คสช. ไม่กล้าปฏิเสธแน่

ส่วนเลือกตั้งครั้งหน้าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์ จะไปจับมือกับพรรคอื่นหรือไม่ก็ต้องอยู่ที่ผลการเลือกตั้งซึ่งจะบอกได้ว่าใครจะอยู่กับใคร หรือใครจะไม่อยู่กับใคร

การจับมือระหว่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีสิทธิ์เป็นไปได้ เพราะเราเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกันมา แต่ที่ผ่านมาสัตยาบัน ก็ถูกฉีกทุกที ดังนั้นต้องรอดูผลการ เลือกตั้ง และจะเห็นได้ว่าหลังปี 2550 ลงสัตยาบันกันว่าให้พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาล แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาล

ส่วนความเป็นไปได้ที่พรรคประชา ธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยนั้น พรรคมีมติไม่ได้แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย โอกาสความเป็นได้เพียง .0001 เปอร์เซ็นต์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ปราบทุจริต เป็นพรรคที่ไม่มีนายทุนเป็นเจ้าของ แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยโดยสิ้นเชิง

ประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ

รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

ส่วนตัวเท่าที่ได้เห็นตามสื่อ ข้อเสนอแนะของ นายพิชัย เป็นความคิดที่ผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีประสบการณ์ทางการเมือง อยากเห็นระบอบประชา ธิปไตย ที่พรรคการเมืองต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามของนักการเมือง

เรื่องดังกล่าวเคยมีการพูดคุยในวงสัมมนาหลายครั้งว่าถึงเวลาเลือกตั้งจะเป็นไปได้หรือไม่เมื่อพรรคการเมืองถูกบีบมากด้วยกติกาที่วางไว้

แต่ส่วนตัวคิดว่าคงไม่จำเป็นที่ต้องรวมกันถึง 4 พรรค เพียงแค่ 2 พรรคใหญ่ร่วมมือกันทุกอย่างก็น่าจะจบ แต่ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ 2 พรรคใหญ่จะร่วมมือกัน ส่วนตัวคิดว่าก็เป็นไปได้แต่ก็ไม่มาก

เพราะพรรคใหญ่ย่อมมีอุดมการทางการเมืองที่แตกต่างกัน เอาเข้าจริงถ้าจะจับมือกันก็คงเป็นไปได้ยาก แต่หากมีความจำเป็นก็อยากให้ร่วมมือกันก่อน เพื่อไม่ให้ศัตรูหรือคู่แข่งต้องมายึดตรงนี้ไปเป็นโอกาส

หากมองถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าเชื่อว่าพรรคใหญ่รวมกันก็น่าจะได้ถึง 300- 350 ที่นั่ง ซึ่งเกินกึ่งหนึ่ง เป็นแบบนั้นก็ดี เพราะหากให้รวมกัน 4 พรรคไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่แค่ 2 พรรคก็ถือว่าไม่ง่าย เพราะต่างฝ่ายต่างมีกลยุทธ์ทางการเมืองที่ตรงกันข้าม

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อมีความกดดันบีบคั้นให้จับมือกันก็มีโอกาส ส่วนตัวเห็นว่าการจะมีรัฐบาลไม่เกี่ยวกับว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ได้หรือไม่ได้ แต่เมื่อมีรัฐบาลแล้วประชาชนเดือดร้อนหรือไม่ เพราะอะไรก็ต้านพลังของประชาชนไม่ได้

ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางไว้หากทหารมาเป็นผู้บริหารประเทศก็คงวนไปที่เดิมอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งหากทหารบริหารประเทศได้ แล้วประชาชนไม่อดอยาก ไม่เดือดร้อนเขาก็บริหารประเทศอยู่ได้ แต่ถ้าบริหารและประชาชนอยู่ไม่ได้พลังของประชาชนเองก็จะออกมาเคลื่อนไหว

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย

เป็นความปรารถนาดีของ นายพิชัย ที่อยากจะเห็นมิติใหม่ทางการเมืองที่พรรค การเมืองสามารถพูดคุย ทำความเข้าใจ มีความปรองดองสมานฉันท์ ไม่ต้องถึงขั้นว่าไม่มองหน้ากัน ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ

เคยได้มีโอกาสคุยกับนายพิชัย ก็บอกว่านักการเมืองสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนมีการแบ่งข้างเป็นศัตรูกันชัดเจน สมัยก่อนอภิปรายกันเอาเป็นเอาตาย พอจบก็ยังสามารถพูดคุยกัน มาขอโทษกัน กินข้าวร่วมโต๊ะกันได้ เข้าใจว่า ไอเดียที่นายพิชัยที่เสนอ ให้พรรคการเมือง จับมือกัน คงจะมาจากประสบการณ์ที่อยู่ในแวดวงทางการเมืองมาก่อน

นายพิชัยอาจเห็นว่ารัฐธรรมนูญใหม่ มี ส.ว. แต่งตั้ง 250 คนให้มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติว่านายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. กำหนดยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า 20 ปี มองอย่างไรเสียก็คือคงมี นายกฯ คนนอกมีนายกฯสืบทอดอำนาจ

การมีเสียงส.ว.250 คน ซึ่งมากกว่าพรรคการเมืองใหญ่ในสภาเลยทีเดียว การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงเห็นๆ กันอยู่ว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปในทางนั้น และอาจจะยาวนานเหมือนยุคหนึ่งที่เราเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

ทางแก้วงจรเช่นนี้มีหนทางเดียวคือการผนึกกำลังกันของพรรคการเมือง ทั้งการอาจร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยยอมรับ ผลการเลือกตั้งที่ประชาชนตัดสินใจ หรือไม่ให้ความ ร่วมมือกับความคิด ที่จะเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ ไม่ว่าในทางใดๆ อย่าลืมว่า แม้คุณจะมีส.ว.250 คน แต่ถ้า จะบริหารประเทศให้ราบรื่น ก็จำเป็นต้องมีเสียง ส.ส. เกินครึ่งของสภา

ในความเห็นส่วนตัว ถามว่าข้อเสนอของนายพิชัย เป็นไปได้หรือไม่ คงต้อง บอกว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่พรรค การเมืองต้องเอาไปคิดเป็นการบ้านข้อใหญ่ โดยสถานะคงไม่อาจตอบได้ชัดเจนนัก แต่คงต้องขอแสดงความคารวะนายพิชัยด้วยความเคารพ

ส่วนตัวเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวควร มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อร่วมกันฟื้นฟูประชา ธิปไตย ฟื้นฟูภาพพจน์ของฝ่ายการเมือง ซึ่ง ถูกระบายสีให้กลายเป็นผู้ร้ายมาโดยตลอดตั้งแต่การรัฐประหารเป็นต้นมา

โดยปกติพรรคการเมืองจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล เรื่องนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ แต่คงต้องดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น สถานการณ์ ในช่วงนั้นเป็นอย่างไร มีพรรคใหม่แบบสามัคคีธรรมในอดีตเกิดขึ้นหรือไม่

ไม่แน่ คสช.ยิ่งบริหารนานไปอาจจะส่งผลให้คะแนนพรรคการเมืองถล่มทลายคนออกมาใช้สิทธิสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์เลยก็ได้

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนายพิชัย และนอกจาก 4 พรรคใหญ่แล้วก็ต้องการเห็นทุกพรรคหันหน้ากลับมาจับมือร่วมกันในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยใหม่

เคารพในกติกาและหลักการเหมือน ในอดีตที่ผ่านมาว่าหลังเลือกตั้งหากพรรคใดได้รับ เสียงข้างมากก็จะให้เกียรติพรรคนั้นในการฟอร์มจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าเขาจะเลือกพรรค เราหรือไม่เลือกก็แล้วแต่

ถ้าหากเขาเลือกพรรคเรา เราก็ไปทำงานร่วมในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้าไม่เลือก ก็ไปทำหน้าที่พรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นไปตาม หลักของระบอบประชาธิปไตย และเป็นประเพณีปฏิบัติเหมือนในอดีตของการ เมืองไทย

ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะสามารถรวมกันได้ 500 เสียง เมื่อมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว ไปจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ พรรคที่มีหน้าที่เป็นรัฐบาลก็ไปทำหน้าที่ ส่วนพรรคที่ทำหน้าที่ ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบ ทำให้กลไกของระบบนั้นไปได้

ตรงนี้จะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของพรรคการเมืองและฝ่าย การเมืองไทย ไม่จำเป็นต้องไปอาศัยอำนาจนอกระบบใดๆ เข้ามาจัดการ และจะได้คนที่ประชาชนต้องการ ตรงกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน ที่สำคัญคือเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

นายพิชัยคงไม่ต้องการเห็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นฝ่ายบริหาร เพราะในเมื่อเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ควรให้เกียรติประชาชน

เมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกพรรคไหน เลือกใครเข้ามาแล้วก็ควรสนองตอบเจตนารมณ์ของประชาชนแล้วทำงานร่วมกัน ส่วนที่ทหารจะไปตั้งพรรคก็ต้องเคารพกติกา ต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเขาเคารพกติกา และรับหลักการนี้หรือไม่

เพราะถึงเวลาแล้วที่ทุกพรรคต้องปฏิรูป ทำงานการเมืองกันใหม่ให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เสียที แล้วมาร่วมมือกันสรรค์สร้างสังคม อย่าเล่นกันเหมือนอดีตที่เอาเป็นเอาตาย จบแล้วไม่จบ

เที่ยวนี้เป็นฝ่ายค้าน เที่ยวหน้าก็อาจกลับมาเป็นรัฐบาล อาจได้ทำงานร่วมกับพรรคที่เคยเป็นฝ่ายค้านก็ได้ เหมือนพรรคชาติไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ในอดีตที่ผ่านมา ทุกอย่างจะเป็นเหมือนความรับผิดชอบในหน้าที่ แต่ความผูกพัน ความสัมพันธ์ ของคนไทยด้วยกันยังแนบแน่นเหมือนเดิม

ถูกต้องเลยว่าโมเดลดังกล่าวไม่ต้องการนายกฯคนนอก ในระบอบประชาธิปไตยต้องเคารพและให้เกียรติประชาชน หากประชาชนปรารถนาอยากเห็นพรรคไหน บุคคลใดแล้วเขาเลือกเข้ามา เราจะไปเอาคนอื่นที่เขาไม่ได้เลือกคงไม่ใช่

ยกตัวอย่างหากเป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมาก เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นแบบบัตรใบเดียว ได้ทั้งปาร์ตี้ลิสต์ ได้ทั้งคน ประชาชนต้องการพรรค ก.ไก่ เลือกเข้ามาด้วยเสียงถล่มทลาย 350 เสียง จาก 500 เสียง

แต่แล้วเขาต้องไปเป็นฝ่ายค้านมันจะฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน ขัดความรู้สึกหรือไม่ คงเหมือนการทรยศเจตนารมณ์ประชาชน ดังนั้นแน่นอนที่สุดคือไม่ว่าผลการเลือกตั้งตามกติกาใหม่จะออกมาเป็นอย่างไรทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับ

ถ้าฝ่ายการเมืองจับมือกันได้จริงคิดว่าโอกาสที่จะเป็นไปได้ก็มี เพราะเรื่องยาก ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ถึงยากแต่ก็เป็นไปได้ ถ้าทุกฝ่าย ร่วมมือร่วมใจกันตรงนี้จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยกลับมาอย่างแท้จริง

พูดถึงความเป็นไปได้ใครมองดูก็อาจคิดว่ายาก แต่ถ้าถึงวันนี้สิ่งที่ประชาชน คาดหวังคือหันกลับมาสู่ความปรองดอง กลับมาสู่สันติสุข ก็มาจับมือกันสรรค์สร้างระบอบประชาธิปไตยใหม่ เอาคนที่ประชาชนต้องการเลือกให้มาเป็นเสียงข้างมาก ไม่ใช่เอาใครมาอีกคนก็ไม่รู้ เลือกตั้งก็ไม่ได้ หน้าก็ไม่เคยเห็นแล้วอยู่ๆ จะมาเป็น อย่างนี้หรือ คงจะทรยศอุดมการณ์ และเจตนารมณ์ของประชาชน

โมเดลของนายพิชัยถือเป็นแนวคิด ของผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ที่ฝ่ายการเมืองของทุกฝ่ายต้องกลับมาคิด และส่งเสริม ร่วมกัน นี่คือตัวตนของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และไม่ใช่ 4 พรรคใหญ่เท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกพรรคการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน