FootNote:สงครามไวรัส สงครามโควิด นักรบคือแพทย์ คือพยาบาล

คล้ายกับว่า การประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราช การในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะเป็นการมอบโอนอำนาจให้กับทหารและตำรวจ รวมถึงฝ่ายปกครอง

อาจเป็นเช่นนั้น หากนำสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นคู่เปรียบเทียบ

อาจเป็นเช่นนั้น หากนึกถึงเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

หลายคนจึงสะดุ้งเมื่อเห็นภาพ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แต่งชุดป้องกันไวรัสอย่างแน่นหนา ออกพ่นยา สร้างความสะอาดร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารในหลายพื้นที่ของกทม.

มีความแตกต่างจากสถานการณ์ในภาคใต้อย่างแน่นอน มีความ แตกต่างจากสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 แน่นอน

เพราะนี่เป็นการสู้รบกับไวรัส โควิด-19

การมอบบทบาทให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เพื่อจะได้ช่วยให้การปฏิบัติงานของแพทย์และพยาบาล ดำเนินไปด้วยความราบรื่น บรรลุเป้าหมาย

การครั้งนี้ทหารและตำรวจ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ปกครองมิได้เป็นเจ้าหน้าที่หลัก

หากแต่ดำเนินไปในฐานะอันเป็น “ส่วนประกอบ”

บทบาทด้านหลัก บทบาทอย่างแท้จริงยังคงเป็นแพทย์ ยังเป็นพยาบาล หรือแม้กระทั่งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ประจำอยู่ในแต่ละชุมชุม ในแต่ละหมู่บ้าน

นี่คือสิ่งที่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะต้องชี้แจง แถลงเพื่อสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง ก่อนที่จะกลายเป็นความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ฉุกเฉินในอดีต

บังเอิญเป็นอดีตที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวข้องเท่านั้น

เส้นแบ่งอย่างเฉียบขาดของเรื่องนี้อยู่ที่ปัญหาอันเกิดขึ้นกับสังคมประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2563 เป็นปัญหาอันเนื่องแต่การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19

พระเอกของเรื่องนี้จึงต้องเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล

ธงอันถือนำหน้าคือธงทางการแพทย์ ธงทางสาธารณสุข เป็นธงแห่งความเมตตาและคุณธรรม

เป็นการทำลายล้าง “ไวรัส” เป็นการทำลายโรคาพยาธิสภาพอันรุกเข้ามาบ่อนเบียนประชาชน

สังคมต้องเข้าใจ สังคมต้องรับรู้และเข้าร่วม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน