หลังพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

หลังพ.ร.ก.ฉุกเฉิน : รัฐบาลอนุมัติอำนาจให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งถ่ายโอนอำนาจตามกฎหมายนับร้อยฉบับเข้ามาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว

ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้ข้อมูลและการสั่งการรวมศูนย์ ขจัดความสับสนและการทำงานที่ไม่ประสานงานกัน

ในด้านหนึ่งย่อมแปลได้ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องนั้นไม่เป็นเอกภาพ และยังไม่สามารถยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้

แต่มีคำถามว่า การรวมศูนย์อำนาจนั้นสามารถจัดการปัญหาได้จริงหรือไม่

ในด้านหนึ่ง อำนาจที่รวมศูนย์จะทำให้การสั่งการใดๆ เป็นไปอย่างคล่องตัว สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานนั้นมิได้อยู่ที่ตัว“อำนาจ”แต่เพียงอย่างเดียว หากยังต้องมีปัจจัยประกอบ อื่นๆ อีกหลายประการด้วยกัน อาทิ ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบคอบรอบด้าน การวินิจฉัยปัญหาที่ครอบคลุม จนกระทั่งได้ข้อสรุป ทางเลือก และแผนการสำรองที่ครบถ้วน ฯลฯ

ต้องเห็นทั้งภาพกว้าง และรายละเอียด รวมถึงมีแผนงานที่ชัดเจนในการจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า และผลกระทบที่จะตามมาใน ระยะยาว

อำนาจจึงจะใช้ได้ผลจริง

ฉะนั้น การรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่คนผู้เดียวจึงเป็นดาบสองคม ที่อาจจะก่อให้เกิดผลทางด้านบวกหรือลบได้ทั้งสองทาง ขึ้นกับกระบวนการบริหารจัดการที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมด

ปราศจากกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ มีวิสัยทัศน์ มีความโปร่งใสเพื่อให้สังคมเข้ามาร่วมตรวจสอบและเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ได้ อำนาจก็ไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรได้จริง

หวังว่าก่อนที่จะออกประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ดังกล่าว รัฐบาลและผู้รับผิดชอบจะ ได้ตริตรองถึงปัญหาเหล่านี้อย่างละเอียดรอบคอบแล้ว

เพื่อให้อำนาจรวมศูนย์ทำประโยชน์ได้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน