บทเรียนจากหน้ากาก

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

บทเรียนจากหน้ากาก – รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์และยืนยันต่อสาธารณะหลายครั้งก่อนการระบาดเป็นวงกว้างของเชื้อโควิด-19 ว่าหน้ากากอนามัยที่ใช้ในทางการแพทย์ยังมีใช้งาน ไม่ขาดตลาด เพราะมีสต๊อกไว้ถึง 200 ล้านชิ้น

นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานการผลิตซึ่งมีอยู่จำนวน 11 โรงงานว่ามีศักยภาพที่จะผลิตได้วันละประมาณ 1,200,000 ชิ้น หรือตกเดือนละ 36,000,000 ชิ้น

พร้อมกับระบุว่าประเทศไทยมีความต้องการใช้ โดยเฉพาะในช่วงการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ประมาณเดือนละ 30 ล้านชิ้น หรืออาจจะมากเพิ่มถึง 40 ล้านก็ไม่มีปัญหาที่จะนำสินค้ามากระจาย

แต่สุดท้ายก็กลายเป็นสินค้าที่ขาดตลาด หาซื้อได้ยาก และมีราคาแพง

ระหว่างนั้น กรมการค้าภายในก็ยังยืนยันตัวเลขเดิมที่รัฐมนตรีชี้แจงว่ามีอยู่จริงตามที่แถลง และจะสามารถกระจายออกไปให้ทั่วถึง และจะควบคุมราคาไม่ให้แพงเกินสมควรด้วย

มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ควบคุมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้การผลิต ตลอดจนแอลกอฮอล์เหลว เจลอนามัย ที่ใช้ทำความสะอาดมือ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม แต่ยังไม่สามารถเร่งการผลิตและกระจายสินค้าออกมาสู่ท้องตลาดได้

ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏว่ามีการประกาศขายในโลกโซเชี่ยล ตลาดมืด และตลาดออนไลน์ในราคาที่แพงกว่าปกติ รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศในปริมาณหลายร้อยตันในช่วงที่มีการควบคุม

สร้างความงุนงงสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร

หลังจากมีการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำให้มีการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ขึ้นมาใหม่

ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดสรรไปให้ โรงพยาบาลในสังกัด โรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตลอดสถานพยาบาล และโรงพยาบาลเอกชนทุกระดับให้เพียงพอ

ยกเลิกให้กรมการค้าภายในเข้าไปบริหารจัดการทั้งหมด แต่ให้นำส่งกระทรวงมหาดไทย นำไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้ดุลพินิจว่าจะกระจายหน้ากากที่ได้รับจัดสรรนี้ไปยังกลุ่ม เสี่ยงเอง

สะท้อนความล้มเหลวและขาดศักยภาพในการกำกับดูแลของบางกระทรวงหรือไม่ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน