ตั้งโจทย์ดับไฟป่า

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ตั้งโจทย์ดับไฟป่า – สงกรานต์ปีนี้นอกจากไม่ชุ่มฉ่ำเหมือนเคยแล้ว สำหรับเชียงใหม่ยังร้อนไฟป่าที่มีอาการสาหัสกว่าปีก่อนๆ

แม้ความวิตกโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วประเทศ แต่ไฟป่าเชียงใหม่และพื้นที่ภาคเหนือชิงพื้นที่ความเดือดร้อนไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่ซึ่งเผชิญกับมลพิษทางอากาศ

สำหรับผู้ดูแลรับผิดชอบ การที่เชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกมาหลายๆ วัน คงไม่ใช่เรื่องดีทั้งกับข้าราชการท้องถิ่นและรัฐบาลที่กรุงเทพฯ

แต่การขยับตัวเพื่อรับมือนั้นดีพอ หรือยังเป็นเรื่องต้องถามจากชาวบ้าน ผู้ประสบภัย และสรุปผลที่จะนำไปใช้ แก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ข้อสังเกตจากกลุ่มภาคประชาชนของเชียงใหม่ ไฟป่าปีนี้ เกือบทั้งหมดเกิดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน ซึ่งน่าจะควบคุมดูแลได้ดี แต่เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย จึงดูแลได้ไม่ทั่วถึง

ส่วนข้อมูลจากราชการยืนยันว่า ไฟป่าเชียงใหม่ปีนี้เป็นฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เมื่อดูจากจุดความร้อนที่เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ชัดเจนว่าไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ

เมื่อกางแผนที่ดูจุดไฟป่า ภาคประชาชนชี้ว่าไฟหลายจุดเกิดบนพื้นที่สูงชันหรือเหวลึก ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินทางหาของป่า นำไปสู่ข้อสงสัยว่าไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร

ดังนั้น นอกเหนือจากการเร่งดับไฟ หากต้องการไขปริศนานี้และหาแนวทางป้องกันอย่างยั่งยืน สิ่งที่ควรทำคือต้องมีทรัพยากรสำหรับการปกป้องคุ้มครองป่าอนุรักษ์และป่าสงวนให้ดีกว่าปัจจุบัน

ภาคประชาชนเสนอว่า รัฐบาลส่วนกลางต้องรับฟังประชาชนพื้นที่และกระจายอำนาจให้องค์กรส่วนท้องถิ่นตัดสินใจ เพราะสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน

จะมาใช้แผนฉบับเดียวจากส่วนกลางไม่ได้

ส่วนพรรคการเมืองฝ่ายค้านเสนอว่า นอกจากกระจายอำนาจแล้ว ต้องกระจายทรัพยากร ให้เพียงพอ ในที่นี้รวมถึงอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ เทคโนโลยีและการปลดล็อกทางกฎหมาย เพื่อให้ท้องถิ่นตัดสินใจและทำงานได้คล่องตัวขึ้น

รัฐบาลต้องตั้งโจทย์และแก้โจทย์ ให้เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่สั่งให้ไล่จับ คนเผาป่าไปวันๆ แล้วก็ทิ้งปัญหาไว้เผชิญปีต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน