ห้องความดันลบรองรับและป้องกันโควิด

รายงานพิเศษ

ห้องความดันลบ – การแพร่กระจายเชื้อโรคในอากาศนับว่าเป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุข เชื้อโควิด-19 ที่สามารถแพร่กระจายในอากาศได้ดี ‘ห้องความดันลบ’ หรือห้องแยกโรคความดันลบ ที่แพทย์นำมาใช้ควบคุมการกระจายเชื้อโรค จึงถูกพูดถึงบ่อยครั้ง

ห้องความดันลบ

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี

 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ห้องแยกโรคความดันลบ (Negative pressure room) เป็นห้องปรับความดันอากาศภายในห้องต่ำให้เป็น Negative หรือมีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกสู่ภายนอกห้อง โดยห้องดังกล่าวมีความพิเศษ ดังนี้

ห้องความดันลบ ห้องความดันลบ

ระบบควบคุมความดันห้องเป็นลบ การปรับความดันภายในห้องให้เป็น Negative หรือมีแรงดันต่ำกว่าภายนอกห้อง เพื่อไม่ให้อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนไหลออกมาสู่ภายนอก ซึ่งจะช่วยป้องกัน เชื้อโรคที่อยู่ภายในห้องแพร่กระจายออกไปสู่ภายนอก

เครื่องดูดอากาศเสียให้เป็นอากาศดีคือ ระบบมอเตอร์จะดูดอากาศที่อาจมีเชื้อโรคเจือปนผ่านเครื่องกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงในการกรองอนุภาคขนาดเล็ก เพื่อกรองเชื้อไวรัสและปล่อยออกมาเป็นอากาศดีสู่ภายนอกอาคาร

ห้องความดันลบ

ห้องกักเชื้อชั้นยอด จากประสิทธิภาพการควบคุมการไหลเวียนของอากาศ จึงสามารถจำกัดบริเวณการเคลื่อนของเชื้อโรคให้อยู่ในบริเวณที่ควบคุมเท่านั้น จึงทำให้จุดต่างๆ ของโรงพยาบาลมีความปลอดภัย เพราะสามารถ ‘กักกันเชื้อโรค’ ในบริเวณจำกัด

โดย สจล. คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สจล. วิจัยและพัฒนา ห้องแยกโรคความดันลบ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับขณะนี้มีความต้องการใช้งานที่ สูงขึ้น แต่ปริมาณห้องมีไม่เพียงพอ และยังช่วยรองรับกับมาตรการการป้องกันและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

จากทำการวิจัยและพัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนและหันมาใช้วัสดุทดแทนที่หาได้ภายในประเทศ อาทิ พัดลมอัดอากาศ และระบบกรองอากาศฆ่าเชื้อโรคแบบกรองอนุภาคขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับวัสดุที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ทำให้ทุนในการผลิตลดลงเหลือราว 150,000 ถึง 200,000 บาทต่อห้อง จากปกติที่ต้องใช้เงินในการผลิตห้องละ 1 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังเตรียมดัดแปลงห้องแยกโรคความดันลบในรูปแบบเคลื่อนที่ได้ เพื่อความสะดวกในการขนย้าย และสามารถเคลื่อนไปตั้งที่จุดคัดกรองในสถานที่ต่างๆ ตามความต้องการใช้งาน

รศ.ดร.คมสันเผยว่า ลำดับต่อไป สจล.จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้โรงพยาบาลสิรินธรจัดสร้างห้องแยกโรคความดันลบหรือห้องกักกันเชื้อโรค 3 ห้อง ไว้ใช้ในโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในช่วงต้นเดือนเม.ย. นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับโรงพยาบาลกลาง สร้างห้องแยกโรคความดันลบ และตั้งเป้าหมายผลิตห้องแยกโรคความดันลบให้โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อีก 10 แห่ง

ห้องความดันลบ

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน

 

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า นอกจากห้องแยกโรคความดันลบ ที่เตรียมเปิดตัวที่ โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลสิรินธรแล้ว ยังมีห้องแยกโรคความดันลบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สจล. และบริษัท NL Development ที่ตั้งเสร็จสมบูรณ์ พร้อมใช้งานได้ทันที 5 ห้องที่โรงพยาบาลวชิระ เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วยที่เข้ามาคัดกรองเชื้อโควิด-19 ที่มีจำนวนมาก

โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทร. 09-1812-0416 หรืออีเมล์ [email protected] โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน