บทบรรณาธิการ

การนำเสนอบทเรียนทางวิชาการในการศึกษาวิกฤตความรุนแรงทางการเมืองวาระรำลึก 40 ปี 6 ตุลา ก็คือต้องเอาทหารออกจากการเมือง เพื่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เงื่อนไขนี้อาจทำให้คนส่วนหนึ่งไม่พอใจ เพราะหลายเหตุการณ์ที่ประเทศเกิดปัญหานั้น การแทรกแซงมักมาด้วยคำกล่าวอ้างถึงความหวังดี

แม้ความหวังดีลักษณะนี้แสดงผลลัพธ์มาเสมอว่าเป็นอุปสรรคสำหรับการพัฒนา เหมือนกับการกินยาผิด

นอกจากไม่รักษาโรคเดิมแล้วยังมีโรคใหม่แทรกซ้อนเข้ามาอีก

ผลลัพธ์ต่างๆ นี้ไม่เพียงเกิดกับประเทศไทย หากเกิดกับทุกประเทศที่ใช้ยาผิด

สิ่งสำคัญอีกประการสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยคือความอดทน เนื่องจากประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งสำเร็จรูปหรือสมบูรณ์แบบ ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาไปสู่ความมีวุฒิภาวะ

ทั้งต้องมีความอดทนอดกลั้นช่วยรั้งสติไม่ให้ใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะ

ตัวอย่างในต่างประเทศคือกระแสแห่งการปฏิวัติในโลกอาหรับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงวันนี้พบว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่รอดไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้

บางประเทศหวนกลับไปสู่การดึงทหารเข้าสู่การเมือง และบางประเทศล่มสลายด้วยสงครามกลางเมือง เนื่องจากขาดความอดทน

นอกจากคุยกันเองไม่ได้แล้วยังเปิดทางให้เกิดการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก

สําหรับไทยขณะนี้ยังอยู่ในช่วงทดสอบความอดทน ระหว่างเฝ้ารอร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับที่กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำภายใน 8 เดือนหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ในขณะที่โรดแม็ปของรัฐบาลอาจสำคัญในด้านปฏิรูปสำหรับคนส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศ

แต่คนอีกส่วนอาจเห็นว่าการฟื้นคืนอำนาจ 3 ฝ่าย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการอยู่ภายใต้บริบทของการตรวจสอบถ่วงดุลกันนั้นสำคัญกว่า

เพราะเมื่ออำนาจทั้งสามฝ่ายถ่วงดุลกันได้แล้ว ยุทธศาสตร์หรือแผนการปฏิรูปต่างๆ จะตามมาอย่างเป็นระบบ

พร้อมกับการตรวจสอบกันเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตโดยมีกลไกที่ชัดเจน มีวิธีการตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน ไม่ต้องครหากันว่าฉันไม่ดี เธอก็ไม่ดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน