คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 30/2560 เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ประกอบกับ มาตรา 44 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดดำเนินโครงการ

โดยไฟเขียวจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อสร้าง วิศวกร-สถาปนิกไม่ต้องอยู่ในบังคับกฎหมายไทย

เสียงวิจารณ์ตามมาอื้ออึง

1.ปริญญา ศิริสารการ

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

ไม่คัดค้านการใช้มาตรา 44 ผลักดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงเหตุและผลของคำสั่งให้ชัดเจน ว่าทำไมจึงต้องเป็นประเทศจีน มีสาเหตุจากการเมืองประเทศกดดันอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ทำไมไม่เป็นการตีกรอบให้เกิดการแข่งขันทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยว ชาญ ให้มาร่วมกันแข่งขันเป็นตัวเลือกสำหรับประเทศไทย การชี้แจงเหล่านี้ จะทำให้สังคมรับทราบว่า การออกคำสั่งนี้มาวางอยู่บนเงื่อนไขอะไรบ้าง

หากชี้แจงสิ่งเหล่านี้ได้ เชื่อว่าประชาชนหรือภาคประชาสังคม ที่ออกมาคัดค้าน อาจจะสนับสนุน หรือช่วยแสดงความ คิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศได้

จากคำสั่งดังกล่าว อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า เทคโนโลยีจากจีนมีประสิทธิภาพสูงสุดใช่หรือไม่ แน่นอนว่าจีนมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงประเทศหลายเส้นทาง เพราะประเทศมีขนาดใหญ่ ย่อมมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง

แต่ในแง่ของประสิทธิภาพหากวิ่งได้ 3 วัน หยุดซ่อม 4 วัน ต้องถามว่า มีความคุ้มค่าจริงหรือไม่ เวลาของผู้โดยสารที่เสียไป คือต้นทุนอย่างหนึ่ง ที่เป็นผลมาจากการเคลื่อนย้ายที่สะดุดลง หากต้องเปลี่ยนเส้นทาง หรือเลยกำหนดเวลาในการทำธุรกิจ

ตรงนี้ถูกประเมินให้รวมอยู่ในงบ 3 ล้านล้านบาทหรือไม่ ถ้ายอมจ่ายแพงกว่า เพื่อเลือกระบบรางจากญี่ปุ่น หรือของยุโรป แล้วไม่ต้องสิ้นเปลืองภายหลังเรื่องคุณภาพหรือเวลา จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่

มาตรการให้ความช่วยเหลือของจีนในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนา อย่างในแอฟริกาจะเห็นว่า สุดท้ายการลงทุนดังกล่าว ประเทศเหล่านั้นต้องแลกไปกับการเข้ามาสูบทรัพยากรที่มีค่าของแต่ละพื้นที่

อย่างลาวเองก็มีข้อครหาเรื่องการต้องแลกกับทรัพยากรป่าไม้สองข้างทางรถไฟ ส่วนไทยมีบางเงื่อนไขตรงนี้ ที่ต้องได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนจากรัฐบาล

ในแง่แรงงานที่มีการตั้งคำถามว่า ทำไมจึงต้องเป็นคนจีนทั้งหมด ก็ต้องมีคำอธิบาย เพราะในทางปฏิบัติจริง ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า วิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคชาวจีนนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงหรือไม่

หากไม่ใช่ ปัญหาที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดตามมาคือ การหลบหนีเข้าเมือง การย้ายถิ่นเข้ามาของชาวจีนจำนวนมากในเมืองไทย เพราะจากประสบการณ์ทำงานด้านกสม. เคยได้รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้โดยตรง

คือการที่เอกชนรายหนึ่ง ที่ได้รับสิทธิพิเศษจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถูกร้องเรียนว่า มีการนำแรงงานชาวอินเดียเข้ามาทำงานราว 80-100 คนต่อหนึ่งรอบ โดยอ้างว่าเป็น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ

ปัญหาคือพิสูจน์ไม่ได้ว่าแรงงานต่างชาติเหล่านี้ คือผู้เชี่ยวชาญจริงหรือไม่ แล้วการนำเข้าแรงงานรอบต่อมา แรงงานรอบก่อนหน้านี้ กลับออกไปจริงหรือไม่

หากเป็นไปได้ ควร มีการต่อรองเงื่อนไข โดยอาจขอให้วิศวกรเบอร์สองเป็นส่วนของคนไทย เพื่อให้เกิด การจ้างงาน และเรียนรู้เทคโนโลยี หากเกิดเหตุขัดข้องจากการใช้งาน หรือการซ่อมบำรุง คนไทยจะได้มีความรู้มาประยุกต์ใช้ได้

เชื่อว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นหนึ่งในแนวทางที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ในรายละเอียดแล้ว ต้องดูว่า จะเป็นจริงหรือไม่

แน่นอนที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่จะได้ผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ แต่ในระดับย่อยลงมา จะเป็นการสร้างรายได้แก่คนไทยจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่อาจต้องพึ่งพิงชาวต่างชาติเป็นหลัก

การกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ หวังให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย อาจไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาปากท้องยังคงเกิดขึ้นต่อไป

เมื่อเป็นแบบนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะยังรู้สึกโหยหาผู้นำกลุ่มเดิมให้กลับมา เพราะสามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น กินดีอยู่ดี มีความสุขอีก

2.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

คงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรา 44 ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช หากเป็นรัฐบาลปกติ การลงทุน การก่อสร้างโครงการต่างๆ จะเป็นตามกระบวนการปกติ

เหตุผลในการเร่งผลักดันโครงการคงไม่มีใครกล้าออกมาพูด ทั้งที่เรื่องเหตุผลเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าโครงการดังกล่าวมีประโยชน์อย่างไร ลงทุนเท่าไหร่ เมื่อสร้างแล้วจะสร้างความเจริญให้กับชุมชนที่รถไฟความเร็วสูงผ่านได้อย่างไร

เท่าที่ดูยังไม่เห็นถึงความพร้อมในการเตรียมการ ไม่มีการ ตั้งเมืองบริวารแต่ต้น ถ้ารู้เหตุผลทั้งหมดจะเห็นได้ชัดว่าไม่ เหมาะสม

อยากจะทุ่มเงินก้อนใหญ่ให้คนรวยๆ ได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า อยากถามว่าคนจนจะขึ้นรถไฟความเร็วสูงได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากมาก เพราะราคาค่อนข้างสูง

เราต้องเข้าใจก่อนว่าถ้าวิ่งระยาวอาจจะดี แต่ต้องนึกด้วยว่าจะสู้ราคากับเครื่องบินได้หรือไม่ ต้องบอกถึงรายละเอียดให้ประชาชนรู้ และไม่ใช่คิดว่าสร้างง่าย ได้มาง่ายอย่างเดียว แล้วไปทิ้งภาระให้รัฐบาลอื่น

ขณะนี้เรายังไม่มีความพร้อม เพราะยังไม่มีรายละเอียดให้ประชาชน ต้องพิจารณาหลายเรื่องทั้งเงินกู้ วิศวกร และความปลอดภัย เป็นต้น ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาจะสร้าง ไม่รู้ว่าเขาจะเร่งรัดอยากใช้เงินอะไรนักหนา

ส่วนระยะทางเริ่มแรกที่จะสร้าง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรสร้างรวดเดียว 225.5 กิโลเมตรนั้น เดาว่าน่าจะเป็นเรื่องการแบ่งสัญญา ไม่เช่นนั้นจะมีเหตุผลอะไรที่ทำเพียง 3.5 กิโลเมตรก่อน

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการก่อสร้างเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชน จะเอาไปใช้อะไรต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศเป็นหลัก และต้องไม่ใช่ประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ขณะที่ประเด็นวิศวกรจีนจะได้รับการยกเว้นทางกฎหมาย เห็นว่าแม้จะมีสัญญา แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่าเราได้วิศวกรที่เก่ง ดีที่สุดคือต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบในการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

มองว่าไม่มีความคุ้มค่าใดๆ เลย เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้รับประโยชน์ สิ่งสำคัญของระบบสาธารณะต้องเพื่อคนส่วนใหญ่ คุ้มค่า และมีที่ติ น้อยที่สุด

วิธีบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาลปกติ กับรัฐบาลปัจจุบันย่อมแตกต่างกัน ซึ่งตรวจสอบไม่ได้อีกด้วย

3.ธเนศ วีระศิริ

นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี วสท.จึงไม่คัดค้าน แต่ไม่ควรเร่งรัดดำเนินการเกินไป ขอให้ยืดระยะเวลา 2-3 เดือน ในการศึกษารายละเอียดโครงการทุกส่วน ทั้งความคุ้มค่าในการการลงทุน การออกแบบต่างๆ ให้ครบถ้วน

วสท.ยินดีเป็นศูนย์กลางในการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นความถูกต้อง เพราะการใช้ คำสั่งมาตรา 44 ไปแล้ว ขอให้ยกเลิกโครงการ ไม่ง่าย แต่ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ส่วนกรณีการให้วิศวกรจีน ได้รับการยกเว้นทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องผ่านการจดทะเบียนรับรองการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรรมของสภาวิศวกรนั้น หน่วยงานที่ดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของสภาวิศวกร ในฐานะกำกับดูแล ส่วนวสท.ทำหน้าที่ให้ความรู้ต่างๆ และยินดีประสานการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้ วสท.มีความเป็นห่วงในเรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีมาก อยากให้วิศวกรของไทย ไปศึกษาการทำงานร่วมกับวิศวกรของจีน เพราะในอนาคตวิศวกรไทยสามารถ ทำเองได้

หากปล่อยให้วิศวกรจีนดำเนินการเพียงลำพัง จะเสียดายโอกาสในการศึกษาการทำงาน เนื่องจากในอดีตวิศวกรจีนได้ไปศึกษาการทำงานร่วมกับประเทศอื่นและสามารถกลับมาพัฒนาประเทศตัวเองได้

สำหรับระยะทางเริ่มแรกในการดำเนินโครงการ 3.5 กิโลเมตร จากระยะทางกรุงเทพฯ-โคราช 225.5 กิโลเมตร จะต้องดูแผนตั้งแต่ต้น ซึ่งอาจมีการแบ่งการดำเนินการเป็นระยะ

ส่วนการจัดซื้อที่ให้ยกเว้นกฎหมายไม่ต้องปฏิบัติตามถึง 7 ฉบับนั้น อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม

4.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนการใช้มาตรา 44 เรื่องนี้ เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมค่อนข้างมาก

รวมทั้งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดผลกระทบในสังคมระยะยาวได้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการละเว้นระเบียบหลายๆ เรื่อง อาทิ การออกคำสั่งให้ยกเว้นการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดหา ผู้ประกอบการและการเสนอราคา

หรือแม้แต่การอนุญาตให้วิศวกรและสถาปนิกของจีน เข้ามาทำงานได้โดยไม่ต้องสอบใบอนุญาต เป็นต้น

สมาคมสถาปนิกหรือกลุ่มวิศวกรรมต่างไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว รัฐบาลควรรับฟังกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งมีความเข้าใจในเรื่องเทคนิคชั้นสูง

หากพิจารณาในเรื่องเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าของประเทศจีน ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส หรือเยอรมันซึ่งเป็นประเทศแม่แบบของรถไฟความเร็วสูง จะเห็นว่าในประเทศจีนยังมีข่าวอุบัติเหตุรถไฟชนกัน หรือแม้แต่เกิดการทุจริตในกระทรวงรถไฟของประเทศจีนเอง (หน้า 3)

จึงไม่มีหลักประกันว่าเมื่อนำเทคโนโลยีของจีนมาใช้กับประเทศไทยแล้วจะไม่เกิดปัญหา

อยากให้รัฐบาลเปิดประมูลโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการปกติจะดีกว่า หากต้องยกเว้นในบางเรื่องก็ให้ออกเป็นมติ ครม.เป็นครั้งคราวไป

เพราะการใช้มาตรา 44 ในการยกเว้นระเบียบและข้อกฎหมายจำนวนมากให้กับประเทศจีน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของไทยในสายตาต่างประเทศ จะเกิดคำถามตามมาว่าทำไมเราถึงให้สิทธิพิเศษกับประเทศจีน

นอกจากนี้การงดเว้นราคากลาง ไม่ต้องมีการเปิดประมูล รวมถึงการยกเว้นกฎหมายหลายฉบับในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในโครงการดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อกลไกการตรวจสอบ และเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริตขึ้นได้

ดังนั้นความน่าเชื่อถือของไทยจะลดลง และการตั้งคำถามถึงเรื่องธรรมาภิบาลของรัฐบาลจะเกิดขึ้น การค้าการลงทุนระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม

นอกจากนี้การก่อสร้างรถไฟฟ้าด้วยระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตรนั้น ถามว่าระยะทางสั้นเกินไปหรือไม่ เพราะในหลายประเทศจะมีโครงการทดลอง

อย่างเช่นประเทศจีนที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางจากเซี่ยงไฮ้ถึงสนามบินนานาชาติผู่ตง ระยะทาง 49 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 นาที แล้วของไทยที่ระยะทางเพียงแค่ 3.5 กิโลเมตรนั้นจะคุ้มค่าคุ้มทุนหรือ เกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร

เห็นว่าโครงการนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการโดยใช้มาตรา 44 เพื่อผลักดันโครงการ

การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงอาจจะช่วยในเรื่องการพัฒนาและการกระจายรายได้ แต่จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบและขั้นตอนปกติของทางราชการด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน