คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การปลดล็อกการใช้ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไปเพื่อการผลิตปิโตรเลียม กิจการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม และกิจการสำรวจเหมืองแร่ ด้วยมาตรา 44 ตามคำสั่งของหัวหน้าคสช. เป็นมาตรการเดียวกับที่เพิ่งใช้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีเนื้อหาในเรื่องพื้นที่ส.ป.ก.เช่นเดียวกัน

การใช้กฎหมายที่มีอำนาจสูงกว่ากฎหมายทั่วไปติดๆ กันในโครงการใหญ่นี้จึงส่งแรงสั่นสะเทือนออกไปในหลายวงการ

ไม่เฉพาะกลุ่มวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ยังรวมถึงประชาชนทั่วไป

ยังไม่ทันที่ข้อสงสัยในเรื่องรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนจะมีความกระจ่าง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากการใช้ม.44 ให้มีอำนาจเหนือพ.ร.บ.สถาปนิก และพ.ร.บ.วิศวกรที่ล้วนเขียนมาเพื่อให้กำกับตัวผู้รับผิดชอบในสิ่งปลูกสร้าง

การใช้มาตรการนี้ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสิ้น 3,695 ไร่ หรือคิดเป็น 0.09% จากที่ดินส.ป.ก. ทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 41 ล้านไร่ ไม่เป็นไปในแนวเดียวกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จนทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาอีกมากมาย

แม้รัฐบาลระบุว่า การอนุมัติให้เอกชนมีการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ให้เป็นการพิจารณาเป็นกรณีๆ โดยต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รวมทั้งมีการกำหนดค่าตอบแทนที่ดินที่จะให้กับเกษตรกรและการพัฒนาเกษตรกรอย่างชัดเจน

ข้อขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างชาวบ้านหรือเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่หรือเอกชนของรัฐที่ผ่านมานั้น ล้วนบ่งบอกว่าฝ่ายใดตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบ

ข้อมูลจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า ปัจจุบันนี้เกษตรกรไทยร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ประชาชนไทยมาก กว่า 3 ใน 4 ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ ในขณะที่นักธุรกิจบางตระกูลกลับถือครองที่ดินไว้ถึง 630,000 ไร่

โฉนดที่ดินร้อยละ 61 ของประเทศไทยอยู่ในมือประชากรร้อยละ 10 กลุ่มที่รวยที่สุด

บางทีสังคมอาจต้องทบทวนว่าผลประโยชน์รวมของประเทศอยู่ ณ จุดใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน