คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

การจัดประชุมเพื่อทำประชาพิจารณ์ในการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกันสุขภาพ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่ากฎหมาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผ่านไปด้วยความทุลักทุเลเป็นอย่างยิ่ง

ทุลักทุเลเพราะตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือแม้กระทั่งในกรุงเทพมหานคร ก็แสดงปฏิกิริยาไปในทิศทางเดียวกัน

คือไม่ต้องการให้มีการแก้ไขร่างกฎหมาย ดังกล่าว หรือหากจะแก้ไขก็ควรจะเป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้น มิใช่ถึงให้ถอยกลับหลังไปสู่สภาพที่ก่อนจะมีการใช้กฎหมายประกันสุขภาพในประเทศไทย

นี่คือเสียงของประชาชนที่รัฐบาลพึงเปิดใจกว้างรับฟัง

หลักการบริหารระบบประกันสุขภาพนับแต่เริ่มใช้แนวนโยบายนี้ก็คือ แทนที่จะบริหารระบบสาธารณสุขของประเทศด้วยการจัดการกับอุปสงค์(Demand Management)

อันทำให้เกิดระบบเทอะทะใหญ่โต และไม่สามารถหางบประมาณมาตอบสนองได้อย่าง ทั่วถึงและเท่าเทียม

ก็บริหารด้วยการจัดการกับอุปทาน(Supply Management) นั่นคือนำเอางบประมาณที่มีอยู่มาเฉลี่ยให้พอเพียงกับสถิติของผู้ป่วย คนไข้ และโรคที่จะต้องรักษา

และเพื่อมิให้ระบบล้มเหลวซ้ำรอยเดิม ก็แยกให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ควบคุมนโยบายและมาตรฐาน ให้โรงพยาบาลเป็นผู้ขายบริการ และจัดตั้งสปสช.ขึ้นมาเป็นตัวแทนของประชาชนในฐานะผู้ซื้อบริการด้านสาธารณสุข

เพื่อการตรวจสอบถ่วงดุลกัน

ผู้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อาจจะกล่าวอ้างว่าไม่มีเจตนาที่จะล้มเลิกระบบประกันสุขภาพที่เป็นอยู่

แต่ลำพังเฉพาะการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของคณะกรรมการสปสช. ให้กระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาล ในฐานะ “ผู้ขายบริการ” เข้ามากุมสิทธิ์กุมเสียงส่วนใหญ่ โดยลดสัดส่วนของประชาชน ในฐานะ “ผู้ซื้อบริการ-เจ้าของเงิน” ลงไป

จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าการบริหารและบริการของระบบสาธารณสุขไทยจะไม่ย้อนกลับไปซ้ำรอยเดิมก่อนมีระบบประกันสุขภาพ

ย้อนไปสู่การให้บริการที่ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียม ย้อนไปสู่ความไม่พอเพียงของงบประมาณ

ย้อนกลับไปสู่ยุคของความไร้ประสิทธิภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน