บทบรรณาธิการ

วาระครบรอบ 85 ปีเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยไทย เป็นอีกวาระทางการเมืองที่ผ่านพ้นไปด้วยการควบคุมการแสดงความคิดเห็น และด้วยเหตุผลด้านความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เป็นความสงบเรียบร้อยที่ต้องกำกับในแนวดิ่งจากบนลงล่าง มากกว่าจะมาจากความร่วมมือของฐานราก

มีลักษณะคล้ายกับการจัดทำร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะเป็นแผนกำกับสังคม การเมือง และเศรษฐกิจไปอย่างยาวนาน โดยไม่ต้องอาศัยความเห็นชอบหรือความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน

อาศัยเพียงความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฯอันเป็นคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

เมื่อร่างพ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติผ่านความเห็นชอบจากสนช.ไปแล้ว ขั้นตอนจากนั้นจะต้องตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ตามด้วยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

หากคณะหลังนี้จัดทำเสร็จแล้วภายในเวลาที่กำหนด 120 วัน จากนั้นจึงส่งให้คณะแรกพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีและส่งให้สนช.พิจารณาอีกครั้ง

คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะมีหน้าที่จับตาการทำงานตามยุทธศาสตร์ไปนาน 5 ปี

อำนาจของการจับตาดังกล่าวกำหนดไว้ว่า ถ้ารัฐบาลชุดอนาคตข้างหน้านี้ฝ่าฝืน ทำผิดหรือขัดแย้งกับกฎที่ตั้งไว้ จะต้องถูกดำเนินคดีที่มีผลถึงขั้นถอดถอน หรือต้องโทษจำคุก

เป็นประเด็นที่น่าตกตะลึงอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตยมา 85 ปี

นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ชาติรวมถึงการปฏิรูป 11 ด้านจะตั้งขึ้นด้วยคณะบุคคลที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน ทำตามในสิ่งที่คิดว่าดีและเหมาะสมแล้ว การแก้ไขยุทธศาสตร์นี้ทำได้ยากยิ่ง

ความหวังดีต่อบ้านเมืองอาจดูว่าเป็นเรื่องดี แต่เป็นคนละเรื่องกับประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยอายุ 85 ปีนั้นพัฒนามาถึงจุดที่ประชาชนฐานรากรับรู้รับทราบว่าตนเองจะต้องเลือกตัวแทนที่กำหนดนโยบายตามเสียงส่วนใหญ่ ต้องเรียนรู้ความผิดพลาด และการพัฒนาด้วยตนเอง

ดังนั้น ประชาชนจึงคาดหวังที่จะได้รับความเคารพในสิทธิที่เท่าเทียมมากกว่าถูกกำหนดโดยคณะบุคคลที่ไม่ได้เป็นตัวแทน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน