คุมการแสดงออก

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คุมการแสดงออก – การควบคุมตัวกลุ่มทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. ครบรอบ 6 ปี แม้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีอะไรผิดปกติ

แต่ก็สะท้อนความผิดปกติอย่างน่าอึดอัดและน่าคลางแคลงใจ

เป็นอีกเหตุการณ์ที่สะท้อนว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล เสี่ยงที่จะถูกกระบวนการทางกฎหมายจัดการ

ทั้งจะมีคำว่าการปกครองบ้านเมืองต้องเป็นไปตามกฎหมาย

แต่การปกครองที่ประชาชนคาดหวัง กระบวนการทางกฎหมายกับยุติธรรมต้องไปในทิศทางเดียวกัน

การจัดการทางกฎหมายในช่วงเวลาสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากขึ้นเพื่อจัดระเบียบ ทางสังคมให้สอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข

หลายๆ ประเทศประชาธิปไตยมีกฎหมายสำหรับเป้าหมายนี้เช่นกัน แต่ไม่ชัดเจนว่านำมาใช้เพื่อควบคุมกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะกิจกรรมที่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ฯลฯ

แต่สำหรับการเคลื่อนไหวที่ไทย เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เจ้าหน้าที่วินิจฉัยว่าเป็นกิจกรรมให้คนเข้าร่วมในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย

การมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ในมือจึงตัดสินได้โดยง่ายว่า ผู้จัดกิจกรรมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกเหนือจากกฎหมายพ.ร.ก.ดังกล่าว ยังมีกฎกระทรวงที่เพิ่งเพิ่มเติมขึ้นมาสำหรับการถอดถอนศิลปินแห่งชาติได้ ด้วยมติคณะกรรมการอย่างน้อย 2 ใน 3 หากปรากฏว่าศิลปินแห่งชาติผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

แต่การระบุว่าใครมีพฤติกรรมเสื่อมเสีย ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการมอบอำนาจวินิจฉัยให้คณะกรรมการ

คนทั่วไปในสังคมอาจระบุได้ว่าพฤติกรรมเสื่อมเสียคือเรื่องอื้อฉาว แต่หากคณะกรรมการเห็นว่าการแสดงความเห็นตรงข้ามกับรัฐเป็นเรื่องเสื่อมเสียด้วย เรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหา

กฎกระทรวงกับหลักการประชาธิปไตยอาจไม่ไปในทิศทางเดียวกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน