คอลัมน์ รายงานพิเศษ

นอกจากร่างพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนักการเมืองและนักวิชาการ ว่าเป็นเสมือนโซ่ตรวนผูกตรึงรัฐบาลหน้า

ยังมีร่างพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นกฎหมายคู่แฝด

กำหนดให้มีคณะกรรมการถึง 11 ด้าน คอยกำกับการทำงานของรัฐบาลในอนาคต จนขาดความเป็นอิสระ

และส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐบาลในอนาคต

1.พัฒนะ เรือนใจดี

รองอธิการบดีม.รามคำแหง

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือรัฐบาลคสช.เข้ามาชั่วคราว ยิ่งช่วงนี้คือช่วงปลายโรดแม็ป รัฐบาลจึงเหลือเวลาราวปีเศษก่อนการเลือกตั้ง

การบริหารราชการ แผ่นดินนั้น การออกกฎหมายอะไรก็ตามทำได้แต่ต้องระวังการดำเนินการจะเป็นการสร้างผลผูกพันระยะยาวไปกระทบต่อรัฐบาล และส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ

ในแง่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ที่จะออกแผนปฏิรูป แน่นอนจะมีผลต่อการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองทันที เพราะนอกจากนโยบายต้องสอดคล้องต่อกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติแล้วก็คงต้องสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปที่มีความเชื่อมโยงกันด้วย

ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประชาชนที่เสียโอกาสในการเลือกจะตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง โดยพิจารณาจากแนวนโยบายที่แต่ละพรรคนั้นนำเสนอ

อีกทั้งการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความทันสมัย สอดรับต่อสภาพทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะทำได้หรือไม่ ต้องยอมรับว่ากฎหมายที่ออกมาบังคับใช้นั้นจะเหมาะสมต้องสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา ไม่อาจใช้ได้ตลอดไป

สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการ 11 ด้าน รวม 143 คน ที่จะมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลคสช. ควรหลีกเลี่ยงประเด็นทางการเมือง

บุคคลที่คัดสรรควรเป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และต้องมีความหลากหลายจากทั้งภาควิชาการและภาคประชาสังคมประกอบกันด้วย เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

หากตัวกรรมการเหล่านั้นเป็นอดีตสมาชิกสปช. สนช. หรือบุคคลในแวดวงแม่น้ำ 5 สาย หรือคนที่อกหักจากตำแหน่ง 250 ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะหลีกเลี่ยงคำวิจารณ์เรื่องต่างตอบแทนและการสืบทอดอำนาจไม่ได้

ไม่แตกต่างจากกรธ.ที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ยังเปิดช่องให้ตัวเองอยู่ต่อเพื่อร่างกฎหมายลูกไปไม่ได้

2.สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.อุบลราชธานี

ร่างพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศเป็นร่างกฎหมายคู่แฝด กับร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นการกำหนดการบริหารประเทศในอนาคต ถ้ามองข้อดีของร่างพ.ร.บ. ปฏิรูปประเทศ คือ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันที่พยายามกำหนดการปฏิรูปประเทศไว้เป็นกฎหมาย

และได้ยกหลายปัญหาที่ต้องรีบปฏิรูปไว้ 11 ด้าน เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะ ที่โดนใจประชาชน คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจและปฏิรูปการศึกษา

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ฝ่ายปฏิบัติซึ่งหมายถึงหน่วยงานของรัฐ ต้องดำเนินการตามแผนปฏิรูป ที่กำหนดไว้ มีการกำหนดเวลาและตัวชี้วัดที่สำคัญ มีการรับฟังความเห็นของประชาชนและหน่วยงานรัฐเหมือนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560

รวมถึงการกำหนดให้นำผลการศึกษาและคำแนะนำ ข้อเสนอแนะการปฏิรูปประเทศจากแม่น้ำ 5 สาย มาประกอบการพิจารณา ดังนั้น จึงถือว่าค่อนข้างมีภาพในทางบวก

เสียงวิจารณ์ว่าอาจเป็นโซ่ตรวนทำให้รัฐบาลหน้าต้องปฏิบัติตามนั้น ถ้าดูตามร่างกฎหมายแล้วมีการกำหนดเรื่องการปฏิรูปซึ่งสำคัญทั้งหมด และยังกำหนดให้เตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากรและการเงินการคลัง

ปัญหาคือรัฐบาลหน้าจะจัดความสำคัญเรื่องไหนเป็นเรื่องเร่งด่วน และกำหนดเวลาที่ให้บรรลุผลภายใน 5 ปี หากรัฐบาลหน้าทำไม่สำเร็จก็จะมีผลต่อภาพลักษณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติอย่างแน่นอน

ขณะที่คณะกรรมการ 11 ด้านที่เข้ามาทำงานปฏิรูป ถ้าเข้าใจการสร้างโรดแม็ปของคสช.ตั้งแต่ต้น จะเข้าใจว่าผู้ปฏิบัติต้องรัดกุม ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิผล ต้องถูกตรวจสอบกำกับอย่างจริงจังพอสมควรในการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นคณะทำงานนั้น ในเมื่อรัฐบาลต้องการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ก็ไม่ควรมีการแจกเก้าอี้หรือตำแหน่งเพื่อเป็นการตอบแทน เพราะในหมวดที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการได้มาซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปได้กำหนดไว้ว่าให้แต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ โดยคำนึงถึงความหลากหลาย

การตั้งกรรมการไม่ควรตกไปอยู่กับกลุ่มใดหลุ่มหนึ่ง เพราะจะเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ในการปฏิรูปประเทศ และหากเป็น สปท. หรือทหาร เข้ามาทำงานตรงนี้ ถ้าทหารเข้ามามากมีผลต่อความเชื่อมั่นของสังคม และต่างชาติ จะมีผลกระทบต่อการเข้ามาลงทุน การให้ความร่วมมือของภาคประชาชน และความรู้สึกต่อกรรมการที่ประชาชน มุ่งหวังให้เข้ามาปฏิรูปประเทศ

ดังนั้น ไม่ควรจะให้น้ำหนักกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง

3.สดศรี สัตยธรรม

อดีต กกต.

พ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศออกมาร่วมกับพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เสมือนเป็นการกำกับการปฏิบัติงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลหน้าจะมาจากพรรคใดก็คงเกิดความไม่สบายใจที่มีการกำกับการบริหารงานของรัฐบาล

อาจทำให้รัฐบาลชุดหน้าทำงานได้ยากและลำบากเพราะต้องถูกประกบด้วยคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ไม่มีรัฐบาลไหนจะสบายใจได้ อีกทั้งการทำงานทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับแผนงานปฏิรูปทั้งหมด ไม่ได้เกิดจากความคิดอ่านของรัฐบาลหน้าแน่นอน

แน่นอนฝ่ายการเมืองจะไม่ยอมให้มีกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ถึงขนาดเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

จริงๆ แล้วกฎหมายควรจะผ่านความเห็นชอบของประชาชนก่อนที่จะออกมาบังคับใช้ ดีที่สุดน่าจะออกในสมัยที่รัฐบาลชุดหน้าเกิดขึ้นแล้ว โดยผ่านการดำเนินงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้เป็นการสมยอมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าเขาต้องการมีคณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติมาดูแลอีกทีหรือไม่

ที่มองกันว่าพ.ร.บ.ปฏิรูปประเทศเป็นการล็อกรัฐบาลอีกชั้นนั้น ตอนนี้เหมือนกำลังทดลองบริหารประเทศแบบใหม่ ทดลองดู สักพักอาจ ดีขึ้นได้ การทำงานของฝ่ายบริหารก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะมีฝ่ายยุทธศาสตร์ชาติ มาร่วมรับผิดชอบ

ต้องมองโลกสวยไว้ก่อนว่ามี 2 สภามาช่วยกันรับผิดชอบ เป็นการช่วยตรวจสอบซึ่งกันและกัน และไม่ใช่ว่ารัฐบาลต้องยอมตามคณะกรรมการทั้งหมด หากมีเรื่องอะไรที่เห็นค้านก็เอาเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎร ฟ้องประชาชนได้อยู่แล้ว

ส่วนที่ห่วงคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน ชุดละ 13 คน รวมแล้ว 143 คน เข้าควบคุม ทำให้การทำงานขาดความเป็นอิสระนั้น กรรมการปฏิรูปสั่งการอะไรมาได้ แต่การทำงานของรัฐบาลชุดหน้าถ้าไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่เขาสั่งก็นำเข้าสภาต่อไป และส่วนดีก็มี ทำให้การทำงานของรัฐบาลมีพี่เลี้ยงมีคนช่วยเหลือ โครงการต่างๆ ที่ออกมาทำก็น่าจะถูกต้องเพราะได้รับรองแล้วจากคณะกรรมการก็น่าจะอบอุ่นมีคนมาช่วยทำงาน รัฐบาลไม่โดดเดี่ยวแล้ว

แต่การตั้งคณะกรรมการแต่ละชุดก็คงเหมือนเดิมคือมีทั้งสปท. สนช.และทหาร จะเห็นคนเดิม ชื่อเดิมๆ เหมือนเรามีเพื่อนก็ต้องเลือกเพื่อนที่เข้าใจ เห็นใจ ใกล้ชิดเรา มากกว่าจะเลื่อกเพื่อนที่คอยขัดขวางเข้ามาทำงานให้ และระบบอุปถัมภ์ในประเทศเรามีมานานแล้วเป็นเรื่องธรรมดา

และหากทั้งสปท. สนช.และทหารเข้ามามาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะก็ตอบโจทย์ได้ว่าทำไมทำอย่างนี้ไม่ได้เพราะอะไร และการที่ทหารเข้ามาน่าจะเป็นการประกันได้ว่าจะไม่มีปฏิวัติรัฐประหารอีก

ประเทศเราเห็นทหารมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย การมีทหารเข้ามา และอยู่ถึง 20 ปี น่าจะเป็นการศึกษาว่าประเทศที่มีทหารเกี่ยวข้องในการปกครองจะเป็นผลดี-ผลเสียอย่างไร เราอาจเป็นประเทศแรกที่มีการศึกษาเกี่ยวกับรัฐบาลทหาร หรือระบบรัฐข้าราชการร่วมปกครอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน