คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : นอกจากมุมมองหมอ

นอกจากมุมมองหมอ ข้าราชการระดับสูงของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อัพเดตสถานการณ์โควิด-19 ของไทยในขณะนี้ ว่าคล้ายเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคมที่มีผู้ป่วยจำนวนน้อย

ส่วนที่แตกต่างออกไปคือลักษณะการป้องกันตัวของคนไทยปัจจุบันดีขึ้นกว่าช่วงต้นมีนาคมมาก กล่าวคือใส่หน้ากากมากขึ้น ออกมานอกบ้านน้อยลง และไม่มีการรวมตัวกันของคนเยอะๆ ดังนั้นโอกาสเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ๆ จึงลดลง

ก่อนชี้ว่า หากจำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ ตามข้อเสนอของทีมที่ปรึกษา คือต่ำกว่า 5 คนต่อ 1 ล้านคนต่อวันไปตลอดเรื่อยๆ ประเทศจะเข้าที่ ไม่ต้องเปิดๆ ปิดๆ

พร้อมเตือนว่า ถ้าจำนวนมีมากกว่าที่ตีกรอบไว้ มาตรการอื่นๆ ก็ต้องกลับมา

การประเมินศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยของสาธารณสุขเขตกรุงเทพฯ ระบุว่า ปัจจุบันถ้ายังมีผู้ป่วย 40 คน จากประชากร 8 ล้านคน ถือว่ายังอยู่ในวงจำกัด

ถ้ากรุงเทพฯ มีคนไข้เกิน 80 คนเกิน 14 วัน หรือเกิน 15 คนต่อล้านคนต่อวันแค่ครั้งเดียว จะถือว่าวิกฤต เพราะคนไข้ล้นโรงพยาบาล

คำเตือนจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขคือ การป้องกันตัวส่วนบุคคล และองค์กร พบว่าการทำงานที่บ้านหย่อนลง การเหลื่อมเวลาทำงานยังไม่ดี

ฝ่ายสาธารณสุขเรียกร้องกับภาคเอกชนว่า ควรให้ความร่วมมือเรื่องทำงานที่บ้านและเหลื่อมเวลามากขึ้น

สำหรับประชาชน การให้ความร่วมมือดังกล่าวดำเนินมาพักใหญ่ แต่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตที่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ด้วย

หากมองถึง พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา น่าจะเป็นอีกมุมมองที่ย้ำว่า ผลกระทบของโควิด-19 มีมากกว่าเรื่องของการติดเชื้อและการรักษา

การที่ต้องทุ่มเงินจำนวนมหาศาลสำหรับการฟื้นฟูและเยียวยาระบบเศรษฐกิจ น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเพื่อแลกกับสุขภาพของประชาชน

แต่การใช้มาตรการทางกฎหมายที่คุมเข้มราวกับหวาดระแวงประชาชนในวงกว้าง ตีขลุม หรือเหมารวม เป็นเรื่องต้องคำนวณความคุ้มค่าเช่นกัน

ในอดีตวิธีการฉายรังสีรักษามะเร็ง ส่งผลกระทบต่อเซลล์ดีจำนวนมากจนทำให้ร่างกายอ่อนแอและสุขภาพทรุดลง แต่ปัจจุบันพัฒนาให้ส่งผลเฉพาะเซลล์เป้าหมาย ไม่กระทบต่อเซลล์ดี

วิธีการที่ใช้รับมือโควิด-19 ก็ควรพัฒนาให้เป็นเช่นนั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน