คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

พิธีส่งมอบงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือสปท. ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีกลุ่มประชาชนมาให้กำลังใจใดๆ ด้านหน้าอาคารรัฐสภา จนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องวิตกกังวล

ส่วนกำลังใจจากประชาชนที่จะปฏิบัติตาม แผนงานต่างๆ ตามที่สปท.ยื่นให้รัฐบาลจะเป็นอย่างไร ล้วนต้องรอดูในอนาคต

เนื่องจากงานต่างๆ ที่วางแผนทุ่มเทมาตลอดนี้ ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มแม่น้ำ 5 สาย แต่การปฏิบัติจริงในอนาคตเป็นเรื่องของประชาชนกลุ่มใหญ่

ยิ่งเมื่อรัฐบาลยืนยันว่าไม่มีการสืบทอดอำนาจ จึงน่าติดตามว่าการสานต่อ แผนงานการปฏิรูปต่างๆ ที่ตีกรอบไว้นี้จะได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากน้อยเพียงใด

ในเนื้อหาการดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่สปท.ศึกษาและเสนอแนะนั้นมีจำนวนถึง 188 เรื่อง แน่นอนว่าแต่ละเรื่องล้วนหวังดีต่อการบริหารประเทศ

ขณะเดียวกัน สปท.ยังสรุปผลงานที่เป็นรูปธรรม 27 เรื่อง ในจำนวนนี้มีเรื่องการจัดตั้งศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แผนปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นต้น

อีกทั้งมีข้อเสนอแนะคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการปฏิรูปในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ และมาตรา 261 กำหนดให้วุฒิสภาติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ

พร้อมเสนอให้มียุทธศาสตร์ชาติ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ และเสนอกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ แผนกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ

สิ่งที่สปท.ให้ความสำคัญมากในการส่งมอบงานดังกล่าวคือการปฏิรูป โดยระบุว่าเป็นพันธกิจหลักอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยน แปลงทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ที่มีความยั่งยืน ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก จึงนับเป็นงานสร้างสรรค์ เชิงบวก และต้องอาศัยความร่วมมือของแม่น้ำ 5 สาย

ถ้อยคำที่ขาดหายไปอีกครั้งจากการสรุปผลงานและการฝากฝังครั้งนี้ก็คือความร่วมมือของประชาชน

แม้ว่าการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นผลผลิต ตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 22 พ.ค.2557 และกำหนดให้รัฐบาลในอนาคตปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

แต่เมื่อจะหวนคืนประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนคือผู้กำหนดที่สำคัญที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน