คํายืนยันของโฆษกกองทัพเรือของไทยถึงการยื่นความจำนงขอซื้อขีปนาวุธฮาร์พูน บล็อก ทูว์ จำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิง 1 ลูก มูลค่า 828 ล้าน เพื่อติดตั้งบนเรือฟริเกต ตรงกับที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการะบุไว้แต่แรก

พร้อมคำอธิบายว่า เป็นการจัดซื้อมานานแล้ว ตามโครงการต่อเรือฟริเกต ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งไทยลงนามข้อตกลงกับประเทศเกาหลีใต้ ในการต่อเรือหลวงท่าจีน และการซื้อฮาร์พูนก็เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ถึงเวลาต้องจัดซื้อมาใช้กับเรือหลวงท่าจีน

อีกทั้งระบุว่าการจัดซื้ออาวุธเป็นไปตามวงรอบในการดำเนินการตามวงเงิน และเป็นขั้นตอนทางธุรการ

คําถามที่เกิดขึ้นในสังคมเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มาเสริมเขี้ยวเล็บเหล่านี้ไม่เพียงอยู่ที่ว่า เป็นข้อตกลง เป็นแพ็กเกจ หรือเป็นงบประมาณผูกพันอย่างไร

แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ว่าเหตุใดคนไทยจึงรู้ถึงเรื่องนี้เป็นอันดับท้ายๆ ทั้งที่งบประมาณที่ใช้ล้วนไม่ได้อยู่นอกภาษีของประชาชน

การตัดสินใจซื้อ ความเห็นชอบ และการตรวจสอบต่างๆ ในเรื่องการจัดซื้ออาวุธที่ระบุทุกครั้งว่ามีความโปร่งใสนั้น มีกระบวนการให้ประชาชนเข้าถึงอย่างไร แสดงความคิดเห็นอย่างไร

โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สภานิติบัญญัติฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ก่อนหน้าขีปนาวุธฮาร์พูน มีโครงการอัพเกรดเครื่องบินขับไล่เอฟ 5 จำนวน 4 เครื่อง มูลค่า 3,200 ล้านบาท งบประมาณผูกพัน 4 ปี (ปี 2560-2563) ที่ครม.อนุมัติไปแล้วในโครงการระยะที่สอง หลังจากโครงการระยะแรกเริ่มต้นในปี 2557

ก่อนหน้าโครงการอัพเกรดเอฟ 5 มีการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ขั้นต้นแบบ T50 ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 8 ลำ มูลค่า 8,800 ล้านบาท รถถัง VT4 จากจีน รถยานเกราะ VN-1 จากจีน เฮลิคอปเตอร์ Mi-17 จากรัสเซีย เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กจากสหรัฐ รวมมูลค่า 17,200 ล้านบาท และมีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน มูลค่า 13,500 ล้านบาท

โครงการต่างๆ เหล่านี้ ล้วนเปิดเผยหลังดำเนินการตัดสินใจไปแล้ว ด้วยคำอธิบายว่าจำเป็นและโปร่งใส

แต่ไม่ต้องการความเห็นของประชาชนอย่างนั้นหรือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน