สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. …. หรือกฎหมาย 7 ชั่วโคตร โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 29 คน มีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน

เป็นกฎหมายป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในเรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งครอบคลุมถึงกิ๊ก ชายรักชาย เพื่อนสนิทด้วย

ด้านนักวิชาการ กรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความเห็นดังนี้

1.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการอิสระ

เข้าใจว่ามีกฎหมายป.ป.ช.อยู่แล้ว ทำไมต้องมีกฎหมาย 4 ชั่วโคตรออกมาอีก ซึ่งคงต้องดูรายละเอียดให้มากขึ้นว่า ความผิดฐานใดเป็นลักษณะการขัดกันของผลประโยชน์

เชื่อว่าในรายละเอียดแต่ละมาตราของกฎหมาย คงจะเอาโทษคนที่สามารถหาประโยชน์จากตรงนี้ได้หมด อย่างเมื่อก่อนเป็นผู้บริหาร ถ้ามีญาติค้าขายแล้วประมูลโครงการได้ อย่างนี้ป.ป.ช.เรียกว่าการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งมีมาก เพราะ การจัดซื้อจัดจ้างที่เอื้อประโยชน์กันมีเยอะ

ความจริงบ้านเรามีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ สมมติว่าเป็นญาติ แต่เมื่อเปลี่ยนนามสกุลแล้วอาจจะไม่ใช่ญาติก็ได้ จึงต้องชัดเจน เพราะเรื่องระบบหรือกติกา เรื่องคดีทุจริตมีเยอะ

คำถามคือทำไมจับไม่ได้ ต้องมองดูให้ดีว่าผู้ปฏิบัติตัวดี หลีกเลี่ยงและแนะนำให้คนเลี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิด และสังคมไทยเป็นระบบพรรคพวก ทุกเรื่องถ้าเป็นคนของฉันไม่ผิด คนฝ่ายตรงข้ามผิด ดังนั้นต่อให้มีกฎหมายที่วิเศษอย่างไร ก็ทำอะไรไม่ได้

อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ว่าหาผลประโยชน์มากที่สุด คนที่ดูแลคือ ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ นายอำเภอ มีป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ ทำไม่ยังเกิดการทุจริต เป็นเพราะเราละเลยผู้ปฏิบัติที่กระทำผิดไม่ถูกลงโทษ จนเกิดการเอาอย่างกันมากขึ้น ใครมีพวกคดีก็ถูกซ่อนไว้

มีคดีอีกเยอะที่ถูกป.ป.ช.แช่แข็งไว้ คนทำผิดแต่ไม่ถูกลงโทษ เพราะมีระบบพรรคพวกเกื้อหนุนอยู่ กฎกติกาออกมาอย่างไรก็ไม่สามารถอุดช่องทุจริตได้

ส่วนที่ภาคธุรกิจเป็นห่วงเรื่องการตีความคำว่า “เจ้าหน้าที่ ของรัฐ” ก็ต้องดูคำจำกัดความว่าเจ้าหน้าที่รัฐในที่นี้หมายถึง ทุกคนที่รับเงินเดือนรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอะไร ต้องชัดเจน

ดังนั้นในการพิจารณาของสนช.ในวาระ 2-3 ควรเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นกัน

การที่ภาคธุรกิจไม่มั่นใจที่จะร่วมมือในโครงการประชารัฐ เพราะเกรงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จริงๆ จะทำให้เกิดผล กระทบ ต่อเมื่อภาคธุรกิจเข้าไปเอาเปรียบ เพราะบริษัทประชารัฐสามัคคี เอกชนเข้าไปถือหุ้น

และส่วนมากเป็นนักการเมืองท้องถิ่นบริหาร ซึ่งไม่รู้ธุรกิจ และไม่ฟังเสียงประชาชน ทำให้ธุรกิจเสียหาย คนรากหญ้า เสียหาย แต่ถ้าบริหารแบบมีคุณธรรม เอาเหตุผลมากกว่าการเอา ผลประโยชน์ก็ไม่มีปัญหา ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องชัด และใครที่บริสุทธิ์ใจไม่ต้องกลัว

แต่ห่วงนักธุรกิจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่จะร่วมมือกันโกง เพราะนักธุรกิจโกงได้ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐช่วย

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้ครอบคลุม ถึงกิ๊ก ชายรักชาย เพื่อนสนิท ถือเป็นการเหวี่ยงแหไปหมด เป็นเรื่องความเข้าใจของสังคมที่ผิดๆ ไม่มีเหตุผล

หากเป็นอย่างนี้จะเป็นปัญหาในการพิสูจน์ ที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัว แม้แต่ศาล ถ้าใช้ระบบไต่สวนก็เห็นด้วย แต่ถ้าเป็นระบบกล่าวหา การปั้นพยานจะง่าย ไม่มีความยุติธรรม จึงไม่เชื่อว่าการปิดช่องทุจริตด้วยกฎหมายจะทำสำเร็จ ต้องปิดด้วยการป้องกัน ต้องให้ความยุติธรรมในสังคม ให้เกียรติ และสิทธิเสรีภาพในสังคมมากขึ้น

ส่วนกฎหมายฉบับนี้สามารถนำมาบังคับใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะมีการประเมินว่าน่าจะถูกดองเรื่อยๆ นั้น ก็ต้องดูก่อนว่าออกกฎหมายมาใช้เพื่อเกื้อหนุนกับอะไรของใคร เพราะมีกฎหมายป.ป.ช. แล้ว ในเรื่องขัดกันของผลประโยชน์ ก็ควรต้องแก้ตรงนี้ และขึ้นอยู่กับว่า เป้าหมายต้องการอะไร

การที่เสนอเป็นกฎหมาย ถือเป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ก็ไม่ทราบ

2.พัฒนะ เรือนใจดี

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แนวคิดของหลักกฎหมายมหาชนเศรษฐกิจมองว่า ภารกิจของรัฐสมัยใหม่ต้องคลายตัวออกจากการแทรกแซงภาคเอกชน แล้วคอยทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งเสริม ลดการสร้างเงื่อนไขทางกฎหมาย ระเบียบ และกฎเกณฑ์ลง

ทว่ากฎหมาย 4 ชั่วโคตรยังคงไม่ชัดเจนในความหมายหลายส่วน จนทำให้สนช.ภาคธุรกิจอภิปรายตั้งคำถาม ถึงการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการประชารัฐ ที่กลไกการทำงานต้องร่วมมือกันระหว่างข้าราชการและเอกชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการตีความในบางกรณีที่อาจ เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้

เห็นด้วยและเข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐบาลสำหรับการเสนอกฎหมายฉบับนี้ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและสนช.ในฐานะผู้ออกกฎหมายต้องทบทวนและหาข้อมูลมากกว่านี้

โดยเฉพาะการอ้างว่าจะครอบคลุมถึงบุคคลที่มี สายสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นกิ๊ก หรือชายรักชาย จะต้อง มีความผิดด้วยหากมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ก็ไม่มีหลักทางกฎหมายแพ่งมารองรับ

บางกรณีเป็นบุตรที่แท้จริง แต่พ่อไม่ยอมรับ ก็จะไม่มีผลทางกฎหมาย แม้ในทางพฤตินัยจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่ในเมื่อทางนิตินัยไม่รับรองแล้ว จะบังคับใช้อย่างไร

ส่วนในทางอาญา พัฒนาการทางกฎหมายที่มุ่งเน้นการหาตัวผู้กระทำผิด โดยครอบคลุมถึงตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน จนมาถึงการเอาผิดผู้สมคบ ก็จะกำหนดเงื่อนไขเฉพาะไว้ว่า ฐานความผิดของคดีนั้น ต้องกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างกว้างขวาง เช่น คดียาเสพติด คดีความมั่นคง เป็นต้น

แต่กฎหมายที่จะขยายวงไปยังความสัมพันธ์ผู้ที่เกี่ยวข้องถึง 4 ช่วงนี้ ควรกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน ตามฐานความผิดที่ควรมีหนักเบา ไม่ใช่เปิดช่องเหมารวมในทุกกรณี

สุดท้ายเมื่อมองในแง่ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ ทางครม.และสนช.ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญด้วยว่า กฎหมายพิเศษตัวนี้ไปกระทบหรือละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่

หากจะให้เกิดความรอบคอบ ควรเปิดรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ให้รอบด้านก่อนผลักดันต่อไป

3.ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ แห่งม.เกษตรศาสตร์

เราพยายามคิดหาวิธีการแก้ปัญหาการ ทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยมาตรการทางกฎหมายมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นอีกนวัตกรรม ที่พยายามคิดค้นมา

คำถามคือกฎหมายลักษณะนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ มีกฎหมายลักษณะเดียวกันจากประเทศอื่นให้เทียบเคียงหรือไม่ ซึ่งเรายังมองไม่เห็นว่าการทุจริตจะน้อยลง จากการมีกฎหมายแบบนี้ และหากมองไปถึงผู้เกี่ยวข้องอีก 4-7 ชั้น เป็นสิ่งที่เกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ เพราะการใช้มาตรการ อื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรการทางกฎหมาย แต่เป็นมาตรฐานทางสังคม เชื่อว่าได้ประสิทธิภาพมากกว่ากันเยอะ

ที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี เรื่องการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น การแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่นับวันมีการขยายขอบเขตมากขึ้น ก็ยังไม่เห็นอะไรที่เป็นคำตอบที่ดูแล้วเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นจะดีขึ้น มีแต่แนวโน้มจะแย่ลง

จึงไม่แน่ใจว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว เป็นเรื่องที่มาถูกทางหรือไม่ เราอย่าเอาอคติเป็นตัวตั้ง เรื่องนี้ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

ส่วนคำจำกัดความเรื่องเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เป็นคำที่ใช้กว้าง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้หมายถึงข้าราชการเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม คำว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีมาตรฐานสากลเป็นตัวกำกับอยู่ สามารถเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ ได้ ถ้ากังวลก็ต้องหาข้อมูลมากำหนดคำนิยามซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก

การป้องกันการทุจริตเป็นเรื่องที่ตบมือข้างเดียว ไม่ดัง ภาคธุรกิจเองก็ต้องมีความชัดเจน ต้องสำรวจตัวเองด้วย ซึ่งผลประโยชน์จากการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ดูได้จากผลลัพธ์ของการกระทำ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ แต่จะได้ประโยชน์หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าให้ความสำคัญเฉพาะมาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวเชื่อว่าคงไม่ได้ผล แต่ต้องมองถึง องค์รวม ไม่เช่นนั้นถือว่ามาผิดทาง

4.สรรเสริญ พลเจียก

เลขาธิการ ป.ป.ช.

กฎหมายฉบับนี้ไม่มีช่องโหว่ แต่ออกมาเพื่ออุดช่องโหว่ให้ป.ป.ช.เรื่องการป้องกันและปราบปรามทุจริต หมวด 9 เรื่องความขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ที่อาจจะไม่ครอบคลุม

ที่สำคัญคือเป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ปี 2003 ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2554 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ประเทศภาคีจะต้องใช้ปฏิบัติ

กฎหมายฉบับนี้มีหลักการเน้นเรื่องการป้องกันเพื่อไม่ให้ก้าวล้ำไปถึงการทุจริต เป็นการสกัดกั้นก่อนถึงการทุจริต เป็นชั้นของการจัดการกับสีเทา ยังไม่ขาวไม่ดำ ดังนั้นจึงเกิดความยากในจุดนี้ ต้องหาจุดที่พอดี

ส่วนที่สนช.ภาคธุรกิจได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ถือเป็นสิ่งที่สนช.ต้องรับฟังเพื่อให้กฎหมายออกมาและเกิดผลดีต่อส่วนรวม ทุกประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตไว้ในขั้นตอนกรรมาธิการจะต้องพิจารณา เช่น เรื่องการทำโครงการประชารัฐ จะต้องมีความชัดเจน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีความละเอียดมากกว่ากฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการทุจริต

ส่วนคำว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ในกฎหมายป.ป.ช.มีเขียนถึงเรื่องทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว กฎหมายฉบับนี้จึงเขียนและโยงให้สอดคล้องกัน เนื่องจากไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายป.ป.ช.กระทำทุจริต จึงต้องเขียนกฎหมายเรื่องประโยชน์ทับซ้อนเพื่อให้ ส่งผลให้การทุจริตลดลง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกแล้วว่ากว่ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ยังต้องทำความเห็นกัน หลายรอบ เพื่อต้องการกำจัดสีเทา จึงต้องรอบคอบมากที่สุด และให้เกิดความรอบด้านแต่ที่สำคัญคือทุกคน ทุกฝ่าย ต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันก่อนที่กฎหมายจะ ออกมา ไม่ใช่ตีความกันไปอีนุงตุงนัง

ดังนั้นป.ป.ช. จึงมีหน้าที่ทำความเข้าใจด้วย ไม่ใช่ปราบอย่างเดียว หลักกฎหมายต้องชัดเจน การที่จะยก สีเทาให้เป็นสีดำจึงต้องชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการตีความไปขาวหรือไปดำ หรือไปซ้ายไปขวาไม่ได้

กรณีที่ระบุว่าครอบคลุมถึงกิ๊ก-เพื่อนสนิท นั้น ในกฎหมายเขียนไว้ว่าบุคคลใดก็ตามได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมีความสัมพันธ์ มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างนี้ก็ไม่ได้ เอาให้ชัดๆ คือกฎหมายนี้จะจัดการกับเรื่องนอมินี

ส่วนการพิสูจน์เรื่องความสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องทางอาญาซึ่งภาระการพิสูจน์เป็นของผู้สอบสวนคือป.ป.ช. ต้องมีความชัดเจนครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องสากลที่ต้องผลักดัน ออกมาใช้ในยุคปฏิรูป ยุคของการสร้างความเข้าใจกับประชาชนและต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบโลกสมัยใหม่ ซึ่งขณะนี้ในภาคราชการรับรู้มา 3-4 ปีแล้ว เพราะเป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันทุกหน่วยราชการ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ระบุไว้ในประมวลจริยธรรมและวินัยข้าราชการ เพียงแต่ยกระดับให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่เริ่มต้นจากศูนย์

ส่วนภาคธุรกิจเอกชน ต้องขอย้ำว่ากฎหมายนี้ เป็นสากล สามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควรจะจ่ายได้ สำหรับข้อห่วงใย ข้อท้วงติงต่างๆ ทางกรรมาธิการเปิดรับฟังอย่างเต็มที่ตามที่นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีระบุไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

สำหรับภาคประชาชนก็ได้ประโยชน์เช่นกัน จึงเชื่อว่ากฎหมายนี้คงไม่ถูกดอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน