“รายงานพิเศษ”

หมายเหตุ : นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. แถลงถึงขั้นตอนและช่องทางเพื่อทวงความยุติธรรมในคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว วันที่ 14 ก.ย.

สืบเนื่องมาจากศาลฎีกายกฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในคดีร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เนื่องจากคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ชี้คำพิพากษามีผลผูกพันต่อคู่กรณี

เนื้อหาสาระที่จะพูดวันนี้เป็นกรณีที่สืบเนื่องจากการดำเนินคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อเดือนเม.ย. และพ.ค. 2553 ยืนยันการดำเนินการเรื่องนี้ของ นปช.ไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อตามล่า ตามล้าง หรือทำลายใครเป็นการเฉพาะ ไม่ได้เกิดจากความเจ็บแค้นอาฆาตฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองซึ่งต่อสู้กันมา

แต่ทั้งหมดยืนอยู่บนจิตสำนึกที่ว่าคนถูกฆ่าตายเป็นร้อย ต้องเข้าถึงความยุติธรรมได้ ร้อยคนที่ถูกฆ่าตายคดีต้องไปถึงศาล ตลอดเวลา 7 ปี ที่ผ่านมา พวกตนรวมทั้งญาติมิตรผู้เสียหาย ฝ่ายกฎหมาย ทีมทนายความ นักเคลื่อนไหว นักวิชาการหลายภาคส่วน เรียกร้องให้มีการพิสูจน์ความจริงในกรณีดังกล่าว มีการดำเนินคดีในทุกช่องทางที่กฎหมายเปิดให้ทำได้

แต่สุดท้ายทุกอย่างเป็นอย่างที่เคยพูดว่าผ่านไป 7 ปี มีสภาพไม่ต่างอะไรกับงูกินหาง ทุกอย่างเริ่มต้นและวนกลับมาอยู่ที่เดิม วันนี้การแถลงแนวทางการดำเนินการเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้คนเจ็บคนตาย เกิดขึ้นด้วยผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งมีการชี้ชัดถึงขอบเขตอำนาจศาล โดยระบุว่าการดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งขั้นตอนต้องไปเริ่มต้นในชั้นของป.ป.ช. ในฐานะพนักงานสอบสวน จากตรงนั้นได้หารือกับฝ่ายกฎหมาย ผู้รู้หลายต่อหลายคน จนในที่สุดนำมาสู่ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ดังนี้

คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในกรณีดังกล่าวไม่ได้ตัดสินให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุทพ พ้นผิดแต่อย่างใด แต่เป็นการชี้เขตอำนาจศาลซึ่งเราเคารพและน้อมรับ ดังนั้น การชี้เขตอำนาจศาลดังกล่าวยังปรากฏชัดด้วยว่าวินิจฉัยของศาลฎีการะบุให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ สามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้ทั้งความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นผู้ก่อการหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดข้อหาฆ่าคน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 80, 83, 84 และ 288

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลฎีกายังมีผลผูกพันต่อคู่กรณี ซึ่งหมายถึงทั้งโจทก์และจำเลย และผูกพันองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในคำพิพากษานี้ ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานป.ป.ช.

ลุยยื่นอัยการสูงสุด-จี้ป.ป.ช.รื้อคดี

เมื่อผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกามีผลผูกพันต่อบุคคลและองค์กรดังกล่าว ดังนั้น สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานป.ป.ช. จึงยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป ไม่ได้หมายความว่าศาลฎีกาพิพากษาแล้วทุกคนทุกฝ่ายแยกย้ายกันกลับบ้าน ไม่ใช่ แต่มีผลผูกพัน เราจึงมีแนวทางในการดำเนินการแยกเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ 3 ประเด็นดังนี้

1. ในสัปดาห์หน้า ทีมกฎหมายพร้อมผู้เสียหายในคดีนี้จะเดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องไปยังป.ป.ช. เพื่อไต่สวนความผิดของจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่

ต้องขอขยายความ ในศาลอาญาซึ่งพิพากษาถึงชั้นฎีกาแล้ว โจกท์ผู้ฟ้องคืออัยการสูงสุด เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีอาญาต้องไปตั้งต้นที่ป.ป.ช. จึงยังเป็นหน้าที่ของโจทก์คืออัยการสูงสุดต้องดำเนินการตามนั้น ก็จะไปถามที่อัยการสูงสุดว่าภายหลังมีคำพิพากษาได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง และมีแนวทางจะปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอย่างไร

พร้อมกันนั้นจะเดินทางไปที่ป.ป.ช. เพื่อเรียกร้องให้ป.ป.ช. ปฏิบัติตามคำพิพากษศาลฎีกาด้วย ในชั้นนี้เห็นว่าป.ป.ช. อยู่ในฐานะที่ต้องรับทราบคำพิพากษาของศาล และมีภาระหน้าที่ผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวที่ต้องดำเนินการ

หากป.ป.ช.กล่าวอ้างว่าในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มีการไต่สวนพิจารณาและมีมติยกคำร้องไปแล้ว มิอาจหยิบยกกรณีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้หากไม่มีพยานหลักฐานใหม่ เราจะชี้ให้เห็นว่าบัดนี้ภายหลังคำพิพากษาของศาลฎีกาปรากฏพยานหลักฐานใหม่ขึ้นแล้ว

อ้างคำพิพากษา-หลักฐานใหม่

สาระในคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งมีนัยยะสำคัญต่อกรณีนี้ นั้น ในคำพิพากษาศาลฎีการะบุชัดว่าศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่าเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในระหว่างวันที่ 7 เม.ย. 2553 ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน

สาเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตายตามฟ้อง ข้อ 2.1- 2.17 หมายถึงการระบุสาเหตุการเสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆ และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสตามฟ้องข้อ 3 ส่วนนี้พูดถึงผู้บาดเจ็บ เกิดจากการปฏิบัติการทางทหารในการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมนุม กระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง

ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาปรากฏชัด เท่ากับเป็นพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งป.ป.ช.ต้องหยิบยกเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนใหม่ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ในคดีนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่

อันนี้ชัดว่าศาลฎีกาชี้ว่าที่บาดเจ็บล้มตายเพราะเจ้าหน้าที่ใช้ อาวุธจริง กระสุนจริง

ประการต่อมาที่เห็นว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่คือ ศาลอาญามีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ไต่สวนสาเหตุการตายของผู้เสียชีวิตหลายราย มีข้อวินิจฉัยชี้ว่าเสียชีวิตเพราะกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ สำนวนการไต่สวนทั้งหมดในกรณีนี้ยังไม่ได้ปรากฏในกระบวนการไต่สวนของป.ป.ช.ซึ่งยกคำร้องไปแล้วในรอบแรก ประเด็นนี้จึงถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง ที่ป.ป.ช.ควรจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา

นอกจากนั้นสิ่งที่จะเป็นพยานหลักฐานใหม่ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดที่ต้องแสวงหาและรวบรวมนำส่งต่อป.ป.ช. เพราะอัยการสูงสุดจะปฏิเสธการดำเนินงานอันเป็นผลผูกพันจากคำพิพากษาศาลฎีกามิได้

เมื่อดำเนินการเช่นที่เรียนไปแล้ว หากป.ป.ช.หยิบยกคดีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้วมีมติชี้มูลความผิดจำเลยทั้งสองรายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อัยการสูงสุดก็มีหน้าที่นำคำฟ้องเดิมในข้อหาฆ่าคนตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 84 และ 288 มายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ร่วมไปด้วยได้

เพราะโดยหลักการคำฟ้องของอัยการสูงสุดในคดีฆ่าคนตายยังมีผลอยู่ คำวินิจฉัยของศาลฎีกา มิได้ยกฟ้องต่อคำฟ้องดังกล่าวของอัยการสูงสุดแต่อย่างใด แล้ววินิจฉัยชัดเจนลงไปด้วยว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ สามารถพิจารณาหรือฐานความผิดอื่น นอกเหนือจากมาตรา 157 ได้

ฮึ่มฟ้อง”อัยการ-ป.ป.ช.”

ประการต่อมา ถ้าพบว่าการดำเนินการดังกล่าวทั้งโดยอัยการสูงสุดและป.ป.ช.เป็นไปโดยไม่สุจริต เราจะใช้สิทธิดำเนินคดีกับทั้งสองส่วนในทุกบทบัญญัติของกฎหมาย แน่นอนที่สุด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ย่อมทำได้

ในส่วนของป.ป.ช. เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่าหากเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ก็สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณายื่นต่อประธานศาลฎีกา เพื่อพิจารณาแต่งตั้งกรรมการไต่สวนสาธารณะต่อกรรมการป.ป.ช. ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่ต้องดำเนินการ

ช่องทางนี้ถ้าต้องดำเนินการจะดำเนินการในสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วเห็นว่า 20,000 คน เสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนเจ็บคนตายซึ่งผ่านไป 7 ปี ยังไม่รู้ว่าจะไปเอาผิดกับใครอาจจะเบาเกินไป ถ้าถึงตรงนั้นก็ต้องรวบรวมกัน 1 ล้านรายชื่อ

2.หากเห็นว่าการดำเนินการตามขั้นตอนตามข้อ 1 ไม่ปรากฏความยุติธรรมขึ้นแล้ว เราจะดำเนินการโดยให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมการฟ้องร้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกจุด ทุกเหตุการณ์ที่มีการสูญเสีย ซึ่งตรงนี้เป็นการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของป.ป.ช. ที่ชี้ช่องเอาไว้

การดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวสามารถทยอยยื่นฟ้องได้เป็นรายกรณี ตามความพร้อมของพยานหลักฐานต่อไป นี่คือ 2 ข้อหลัก ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางคดีที่จะดำเนินการเรื่องนี้

โดยจะทำเป็นลำดับขั้นตอน เริ่มต้นโดยข้อ 1 ก่อน ถ้าข้อ 1 ไม่ปรากฏผลก็ดำเนินคดีกับสององค์กร แล้วจะดำเนินกระบวนการตามข้อ 2

ทราบจากการเสนอข่าวว่ามีญาติผู้เสียชีวิตบางส่วนจะใช้สิทธิดำเนินคดีตามแนวทางของตัวเอง พวกตนเคารพและถือเป็นสิทธิโดยชอบของแต่ละคน แต่ละส่วนที่จะพิจารณา แนวทางของเราอย่างที่แถลง ส่วนแนวทางอื่นๆ ให้เป็นไปตามสิทธิของแต่ละคน

ขอแค่คดี 99 ศพเข้าสู่ชั้นศาล

เรื่องนี้ไม่มีเป้าหมายแอบแฝงทางการเมือง จะไม่เคลื่อนไหวเดินขบวน จะไม่มีการปลุกปั่น ปลุกระดมใดๆ แต่ถ้าปลุกได้ก็อยากปลุกสังคมไทยด้วยความจริงของคดีนี้ให้ตื่นขึ้นมารับรู้ว่าคนถูกฆ่าตายเป็นร้อย มือเปล่าๆ กลางเมืองหลวง ผ่านไป 7 ปี ยังเข้าถึงความยุติธรรมไม่ได้

ที่เจ็บปวดไปกว่านั้นคือผ่านไป 7 ปี แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความยุติธรรมจะมาถึงเมื่อไร เราเพียงต้องการให้คดีที่คนถูกฆ่าตายเป็นร้อยไปถึงศาล เมื่อไปถึงศาลแล้วกระบวนการพิจารณาและคำพิพากษาเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องที่พวกตนพร้อมเคารพ

จำเป็นต้องเปรียบเทียบการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานสำคัญอย่างป.ป.ช. ใน 2 กรณี คือกรณีสั่งฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 กับกรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 การเปรียบเทียบมิได้ประสงค์ให้เกิดความกระทบกระทั่ง บาดหมาง แตกแยก ระหว่างกลุ่มนปช.กับกลุ่มพันธมิตรฯแต่อย่างใด มิได้ต้องการทับถมผู้บาดเจ็บ หรือสูญเสียในการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ

เพราะถึงวันนี้ไม่ว่าจะเป็น นปช. พันธมิตรฯ หรือมวลชนที่เคลื่อนไหวกลุ่มใด สมควรที่จะทบทวนทุกอย่างที่ผ่านมา และมีข้อสรุปร่วมกันหรือไม่ว่าเราไม่ได้เป็นศัตรู แท้ที่จริงแล้วเราทั้งหลายต่างเป็นเหยื่อของความขัดแย้งนี้หรือไม่ ดังนั้นขอโปรดเข้าใจ

และยืนยันการเคลื่อนไหวนี้มิได้ประสงค์จะเผชิญหน้าหรือท้าทายใดๆ ต่อผู้มีอำนาจปัจจุบัน ไม่ได้ต้องการที่จะผลักดันโค่นล้มต่ออำนาจอะไร ถ้าจะท้าทายคือท้าทายต่อความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไทยว่าคนตายเป็นร้อยและคดีไม่ถึงศาล ยอมรับได้หรือไม่ว่านี่คือความยุติธรรม

นปช.ไม่ได้ขัดข้องหรือเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสามัคคีปรองดอง แต่ความปรองดองของชาติต้องมีความยุติธรรมเป็นเสาเข็ม หากไร้ซึ่งความยุติธรรม ไม่มีทางที่จะเกิดความปรองดองได้

ที่ผ่านมาพวกตนพยายามแบกรับความอยุติธรรมอย่างถึงที่สุด แต่พวกตนก็เป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนไม่มีใครก้มหน้ารับความอยุติธรรมได้ตลอดไป ดังนั้นทุกอย่าง ทุกช่องทาง ทุกขั้นตอนที่กฎหมายเปิดให้ทำได้พวกตนจะทำ

และหากกระบวนการยุติธรรมยื่นมือมารับคดีนี้เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล พวกตนพร้อมติดตามการพิจารณคดีด้วยความสงบเฉกเช่นประชาชนคนไทยทั่วไป เราพร้อมเคารพในคำพิพากษา หากทุกกระบวนการต้องตามหลักนิติธรรมโดยสิ้นสงสัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน