การชูป้ายประท้วงของบรรดานักศึกษาธรรมศาสตร์ ในวันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญไปบรรยายที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ดี

การยืนยันที่จะแถลงทวงถามความยุติธรรมจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ของ นปช. แม้จะถูก คสช.ห้ามปราม และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนมากเข้าไปควบคุมงานแถลงข่าว นั้นก็ดี

สะท้อนให้เห็นว่าที่จริงแล้วบาดแผลจากการเสียชีวิตจำนวน 99 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกนับพันคนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังไม่จางหายไปจากสังคมไทย

ยังเป็นแผลสดที่เจ็บปวดทุกครั้งที่สัมผัส มิใช่แผลเป็นที่เพียงแค่การ ระลึกถึง

อะไรที่ทำให้เหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 ยังคงเป็นแผลสดใหม่ของสังคมไทย กระทั่งเกิดความเจ็บปวดกับทุกฝ่าย ทุกครั้งที่มีการรื้อฟื้นหรือสัมผัส แม้เวลาจะล่วงเลยมายาวนานถึง 7 ปีแล้ว

คำตอบก็คือเพราะยังไม่มีการทำให้ความเป็นจริงของเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ และยังไม่มีการดำเนินการทำให้กระบวนการยุติธรรมเข้ามาช่วยเยียวยาความรู้สึก เมื่อไม่มีทั้งความจริงและความยุติธรรม

ที่หลงเหลืออยู่จึงเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก และความเจ็บแค้นอันเนื่องมาจากการ สูญเสีย

ไม่อำนวยให้ความจริงและความยุติธรรมปรากฏ บรรยากาศเช่นนี้ก็ไม่แปรเปลี่ยน

เพราะความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มีผู้เสียชีวิตจำนวนเหยียบร้อย และผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายพัน อันเนื่องมาจากการใช้อาวุธจริง-กระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมกลางเมือง

หลายคนในนั้น ศาลยุติธรรมชี้สาเหตุการตายแล้วว่า เกิดจากอาวุธของเจ้าหน้าที่

แต่แล้วกระบวนการทั้งหมดก็ยุติอยู่เพียงเท่านั้น ที่ร้ายยิ่งกว่าคือกระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรม ถูกเบี่ยงเบนถูกบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น

ความเจ็บแค้นที่มีอยู่แต่เดิมถูกซ้ำเติมให้มากยิ่งขึ้นด้วยกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมดังกล่าว

แล้วจะหวังให้สังคมไทยเดินหน้าหรือปรองดองที่ไหนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน