เหมือนกับว่ากรณี “เรือเหาะ” จะสัมพันธ์กับกรณี “จีที 200” ไปโดยอัตโนมัติ

อาจเป็นเช่นนั้น

เพราะพลันที่กองทัพบกประกาศ “ปลดระวาง” เรือเหาะเข้าโกดัง คนก็นึกถึง “จีที 200”

เนื่องจากมีลักษณะ 2 เกี่ยวโยงอันละเอียดอ่อน

เกี่ยวโยง 1 เพราะเป็นเรื่องที่กองทัพบกก็เข้าไปมีส่วน และเป้าหมายหลัก คือ ตรวจจับวัตถุระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้

เกี่ยวโยง 1 เพราะไม่ว่า “เรือเหาะ” ไม่ว่า “จีที 200” ล้วนถูกมองว่าไร้ประโยชน์

แต่ความจริง “เกี่ยวโยง” ไปไกลกว่านั้น

 

ภาพที่เห็นอย่างทันทีทันควัน คือ การออกโรงมาชี้แจงของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

มิได้เป็นการแถลงในฐานะ “มหาดไทย”

หากแถลงในฐานะที่โครงการ “เรือเหาะ” เริ่มขึ้นในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผบ.ทบ.

“ผมเห็นด้วยหากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ”

หากฟัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพียงประโยคนี้ก็ถือว่าแมน อย่างยิ่ง ชายชาติทหารอย่างยิ่ง

แต่เมื่อฟังต่อไป

“ผมไม่ได้เป็นผู้พิจารณาโดยตรงแต่เป็นกรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง กรมข่าว กรมยุทธการ กรมขนส่ง ที่เขามีหน้าที่จะต้องดำเนินการ ถ้าตรวจสอบต้องตรวจสอบให้หมด”

จาก “เรือเหาะ” เลยไปไกลถึง “ป่าเสื่อมโทรม ห้วยเม็ก”

 

กระบวนท่าของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ยังเป็นกระบวนท่าเดียว กัน

ไม่ว่า “เรือเหาะ” ไม่ว่า”ป่าเสื่อมโทรม”

ไม่ว่าอยู่ในฐานะ “ผบ.ทบ.” ไม่ว่าอยู่ในฐานะ”เจ้ากระทรวง” มหาดไทย

ทั้งๆที่ดำรงอยู่อย่างเป็น “ผู้บังคับบัญชา”

แม้ว่าระบบการบังคับบัญชา ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าพลเรือน อำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่ “ผู้บังคับบัญชา”ก็ตาม

“ป่าเสื่อมโทรม”ห้วยเม็ก จึงไม่ต่างจาก”เรือเหาะ”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน