หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีที่อัยการฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯกับสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฐานร่วมกันก่อให้ฆ่าผู้อื่น

โดยผู้ถูกยื่นฟ้องร่วมกันสั่งการใช้กำลังสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพและบาดเจ็บอีกเกือบ 2 พันคน เมื่อปี 2553

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อปี 2557 ว่ามูลเหตุแห่งคดีเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นความผิดตามอำนาจหน้าที่ราชการ และเป็นการออก คำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

จึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง

จึงเป็นอันยุติแล้วว่าเป็นการฟ้องผิดศาล

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีการยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้วครั้งหนึ่ง แต่หลังศาลชั้นต้นพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของป.ป.ช. ปรากฏว่าป.ป.ช.ชุดดังกล่าวมีมติให้คำร้องตกไป เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558

ล่าสุด ทนายความญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุ การณ์สลายการชุมนุมพร้อมญาติผู้เสียชีวิต ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ให้แจ้งไปยังป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่สวนคดี

พร้อมยื่นพยานหลักฐานใหม่ประกอบด้วย คำพิพากษาศาลฎีกา, สำนวนการสอบสวนและคำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุดในข้อหาเจตนาฆ่า, คำสั่งไต่สวนการตาย 14 คำสั่ง และสำเนา คำพิพากษาศาลฎีกาที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องบุคคลทั้ง 2 ในความผิดต่อชีวิตด้วย

ถือเป็นหลักฐานใหม่ที่น่าสนใจมาก

คําสั่งศาลฎีกาซึ่งเป็นที่สุดนี้ มีผลผูกพันทั้งอัยการสูงสุดและป.ป.ช. ต้องดำเนินการไต่สวนเรื่องนี้ให้ปรากฏ และนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองต่อไป

นอกจากนี้ ญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยตรง ยังสามารถร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ด้วยกรณีมีข้อที่ควรหยิบมาวินิจฉัยไต่สวนใหม่ จากข้อมูลการเสียชีวิตที่ไต่สวนพบว่าน่าจะเกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำสั่งการจาก ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดังนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความยุติธรรม จึงต้องร่วมกันทำให้คดีนี้ได้นำขึ้นสู่การพิจารณาค้นหาความจริงตามกระบวนการยุติธรรมจนสิ้นสงสัยเสียที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน