แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด(อสส.)เพื่อให้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนความผิด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต นายกฯ จำเลยที่ 1 และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ จำเลยที่ 2 ในคดีสลายการชุมนุมนปช. ปี 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ

นปช.ระบุว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ประกอบการยื่นคำร้อง โดยเฉพาะกรณีศาลอาญาไต่สวนชันสูตรสำนวนการตายของผู้เสียชีวิตหลายราย ว่าเสียชีวิตจากกระสุนของฝั่งเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรณีนี้ยังไม่ปรากฏในการไต่สวนของ ป.ป.ช.ที่ยกคำร้องในรอบแรกเมื่อปี 2558

สําหรับคำสั่งไต่สวนการตายเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ มีดังนี้

ลำดับ 1 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.1,ช.4/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.1,ช.2/2558 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ผู้ตายที่ 1 นายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ตายที่ 2 และนายทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ตายที่ 3

ผู้ตายที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตายบนถนนดินสอบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลาประมาณ 21 น. โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ และไม่อาจทราบได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตายที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีแนววิถีกระสุนมาจากทิศทางใด

ลำดับ 2 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.13/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.6/2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายจรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 นายสยาม วัฒนานุกูล ผู้ตายที่ 2

ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลาประมาณ 22.00 น. ส่วนผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายขณะนำส่งโรงพยาบาล จากบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ถึงโรงพยาบาลกลาง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ สถานที่ใดไม่ปรากฏชัด เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 เวลา 20.30 น.ถึงวันที่ 11 เม.ย.2553 เวลา 0.46 น. วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งวิถีกระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ไปที่บริเวณข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ลำดับ 3 คำสั่งศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อช.8/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อช.3/2557 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง และนายถาวร คำน้อย ผู้ร้องร่วม

ผู้ตาย นายเกรียงไกร คำน้อย

ผู้ตายตายที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2553 เวลาประมาณ 03.30 น. ซึ่งมีวิถีกระสุนทางการยิงมาจาก เจ้าหน้าที่ทหาร ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เข้าขอคืนพื้นที่จากด้านแยกสวนมิสกวันผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยยังไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

ลำดับ 4 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.6/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.4/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายชาติชาย ซาเหลา

ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2553 เวลา 23.37 น. ซึ่งวิถีกระสุนปืนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงาน ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บริเวณถนนพระราม 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ลำดับ 5 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.7/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.1/2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายบุญมี เริ่มสุข

ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 ก.ค.2553 เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายสืบเนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด ร่วมกับประวัติถูกยิงที่บริเวณช่องท้องด้วยกระสุนปืนขนาด .223(5.56 ม.ม.) ขณะอยู่ที่บริเวณถนนพระราม 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ (เหตุการณ์วันที่ 14 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 14.00 น.)

ลำดับ 6 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.3/2556 คดีหมายเลขแดงที่ ช.7/2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ ผู้ตายที่ 1 นายประจวบ ศิลาพันธ์ ผู้ตายที่ 2 นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ ผู้ตายที่ 3

ผู้ตายที่ 1 และผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายภายในสวน สาธารณะลุมพินี แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ผู้ตายที่ 3 ถึงแก่ความตายบริเวณลานหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 แขวงลุมพินี กรุงเทพฯ ผู้ตายที่สามถึงแก่ความตายวันที่ 14 พ.ค.2553 …ผู้ตายที่ 1 และผู้ตายที่ 2 โดยมีวิถีกระสุนมาจากทางฝั่งถนนวิทยุหรือฝั่งถนนพระรามที่ 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ… ผู้ตายที่ 3 โดยมีวิถีกระสุนมาจากด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ด้านถนนราชดำริหรือด้านถนนพระรามที่ 4 โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ลำดับ 7 คำสั่งศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อช.1/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อช.9/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง น.ส.มนชยา พลศรีลา ผู้สืบสันดานผู้ตาย นางสุริยัน พลศรีลา ภริยาผู้ตาย ผู้ร้องร่วม

ผู้ตาย นายชาญณรงค์ พลศรีลา

ผู้ตายตายที่โรงพยาบาลพญาไท 1 แขวงถนนพญาไท 1 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 14.00 น. ถูกทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ในการดำเนินการตามมาตรการปิดล้อมและสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่และผิวการจราจรบริเวณถนนราชปรารภ

ลำดับ 8 คำสั่งศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อช.2/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อช.7/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง นางหนูชิต คำกอง ภริยาผู้ตาย ผู้ร้องร่วม

ผู้ตาย นายพัน คำกอง

ผู้ตายตายที่สำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อ ไอดีโอ คอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จากอาวุธที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพฯ ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)

ลำดับ 9 คำสั่งศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อช.3/2555 คดีหมายเลขแดงที่ อช.12/2555 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย เด็กชายคุณากร ศรีสุวรรณ

ผู้ตายตายระหว่างถูกนำส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 ถนนศรีอยุธยา แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกลูกกระสุนปืนซึ่งยิงมาจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

ลำดับ 10 คำสั่งศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อช.3/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อช.15/2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายถวิล คำมูล

ถึงแก่ความตาย ที่จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ตรงข้ามอาคาร สก.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลาประมาณ 06.00 น. โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากสี่แยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ อันเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่

ลำดับ 11 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.10/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.3/2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายฟาบิโอ โปเลงกี

ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลา 11.30 น. โดยมีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังเคลื่อนกำลังพลเข้ามาควบคุมพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ลำดับ 12 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.2/2556 คดีหมายเลขแดงที่ ช.4/2557 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายนรินทร์ ศรีชมพู หรือศรีชมภู

ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลตำรวจ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลากลางวัน วิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ในการควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดงมุ่งหน้าไปแยกราชดำริ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

ลำดับ 13 คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 คดีหมายเลขแดงที่ ช.5/2556 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง

ผู้ตาย นายสุวัน ศรีรักษา ผู้ตายที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ ผู้ตายที่ 2 นายมงคล เข็มทอง ผู้ตายที่ 3 นายรพ สุขสถิต ผู้ตายที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด ผู้ตายที่ 5 นายอัครเดช ขันแก้ว ผู้ตายที่ 6

ผู้ตายที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ถึงแก่ความตายในวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลากลางวัน ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน