เหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ความถี่ของการก่อเหตุจะลดลงหากแต่ระดับความรุนแรงกลับเพิ่มขึ้น

ล่าสุด คือบุกยิงกำนันขณะกำลังละหมาด ที่จ.ปัตตานี และเหตุระเบิดที่จ.ยะลา จนมีเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด (อีโอดี) เสียชีวิตหลายนาย

ในขณะที่ การเจรจาพูดคุยกลับไม่มีความคืบหน้า ส่งผลต่อการประกาศพื้นที่ปลอดภัย

การดำเนินการติดขัด หรือมีอุปสรรคอะไร มีความเห็นจากนักวิชาการที่เกาะติดปัญหา

 

อาทิตย์ ทองอินทร์
หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

เหตุความรุนแรงชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องช่วงก.ย. มีการประเมินความเชื่อมโยงระหว่างเหตุบุกยิงกำนันขณะกำลังละหมาด กับเหตุระเบิดหลายจุด ที่จ.ยะลา จนมีเจ้าหน้าที่อีโอดี เสียชีวิต ออกเป็น 2 สมมติฐาน

คือ 1.เรื่องส่วนตัว เป็นการตอบโต้เอาคืนของผู้ก่อความไม่สงบกับกำนัน

2.เกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) เพราะช่วงเวลาที่เกิดเหตุรุนแรง คาบเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ ระหว่างทีมงานทางเทคนิคของปาร์ตี้เอ รัฐไทย นำโดย พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับปาร์ตี้บี มาราปาตานี พอดี

น้ำหนักถูกทิ้งไปทางสมมติฐานแรกมากกว่า จนกระทั่งเกิดเหตุรุนแรงล่าสุดที่ ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ก็ทำให้สมมติฐานข้อสองกลับมามีน้ำหนักอีกครั้ง เนื่องจากมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า ต.ตะบิ้ง อ.สายบุรี คือ 1 ใน 5 พื้นที่ปลอดภัย

ความรุนแรงในพื้นที่มักจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการพูดคุยของคณะทำงานระหว่างปาร์ตี้ทั้ง 2 แต่ครั้งนี้ถือว่ามีระดับความรุนแรงมากกว่าปกติ

จึงต้องติดตามว่าคณะพูดคุยสันติสุขจะออกมาส่งข้อความอย่างเป็นทางการต่อเหตุดังกล่าวหรือไม่ ขณะที่ผู้เห็นต่างก็อาจจำเป็นต้องออกมายืนยันถึงศักยภาพในการควบคุมเหตุรุนแรง

ในสภาพแห่งความยืดเยื้อรุนแรงนี้ มีความเป็นไปได้ทุกกรณี ตัวแทนเจรจากับปีกกองกำลังอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน หรืออาจไม่ได้ขึ้นต่อกันเลยก็ได้

และยังเห็นไม่ชัดว่าจุดมุ่งหมายของปฏิบัติการนี้คืออะไร อาจเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย จึงต่อรองขอแยกเวที หรือ กลุ่มกองกำลังนั้นไม่อยากพูดคุยเลย เพราะยังได้ประโยชน์จากเหตุรุนแรง
แนวทางการแก้ไขอาจทำได้โดย 1. หารือในพื้นที่อย่างกว้างขวาง เปิดเวทีให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อดูว่ายังมีกลุ่มไหนที่ต้องการร่วมเจรจาอีกหรือไม่

2.ใช้มาตรการทางกฎหมาย ตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ หลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อให้เกิดการยอมรับและความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนในพื้นที่ แต่สำหรับระยะยาวแล้ว ควรเน้นเรื่องความโปร่งใสในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า

ส่วนการตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณจำนวนมากแต่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายนั้น พบว่า ตลอดเวลา 13 ปี งบประมาณแก้ไฟใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาโดยตลอด

รับรู้ถึงความตั้งใจของรัฐบาลแต่ละชุด ที่พยายามผลักดันโครงการพัฒนาเพื่อมาแก้ปัญหาชายแดนใต้ บางอย่างถือเป็นของดี คนในพื้นที่รับไว้ แต่ก็ยังไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ จนรู้สึกหวงแหนหรือต้องปกป้องดูแล

ในทางการเมือง การแบ่งแยกเอกราช การบริหารจัดการตนเอง เขตปกครองพิเศษ หรืออะไรก็ตามแต่ เป็นเพียงปลายทางของปัญหาความไม่สงบชายแดนใต้

ยิ่งเมื่อมองในมุมของรัฐบนโจทย์ของความมั่นคง ต้องการให้สถานการณ์ชายแดนใต้คลี่คลาย โดยยังคงความเป็นรัฐเดี่ยวเหมือนเดิมนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกแบบกระบวนการที่ทำให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเลือก หรือกำหนดการพัฒนาด้วยตัวเขาเอง

ทางที่เลือกอาจเป็นเพียงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสอดคล้องต่อวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ แต่ไม่ตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมก็ได้

เมื่อมองเช่นนี้แล้ว บางครั้งรัฐไทยก็อาจต้องยอมแลกผลประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์กับสันติภาพ

 

โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

เหตุการณ์ไฟใต้ที่ยังคงมีความรุนแรงอยู่ แต่ความถี่ลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนเหตุการณ์ทำไมถึงรุนแรงยืดเยื้อ เพราะฝ่ายขบวนการคิดว่าเขาต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดินแดนที่เป็นของเขา

ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ต่อสู้เพื่อรักษาบูรณาภาพของดินแดน เป็นการขัดกันโดยเป้าหมาย ทุกฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายของตน

ส่วนการเจรจาวันที่ 11-13 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ข้อยุตินั้น คณะที่ไปคุยไม่ใช่คณะใหญ่แต่เป็นคณะเล็ก ลงในรายละเอียดหลักการเมื่อเดือนก.พ. เรื่องพื้นที่ปลอดภัย ต่างฝ่ายก็มีแนวทางที่จะดำเนินการเรื่องนี้ แต่แนวทางยังไม่ลงตัว

เรื่องพื้นที่ปลอดภัย เสนอโดยฝ่ายรัฐ ภาคประชาชนสังคมในพื้นที่ก็สนับสนุน คู่สนทนาคือมาราปาตานีก็รับในหลักการ ถ้ามีความตั้งใจจริงก็สำเร็จ มีอุปสรรคก็แก้กันไป ก็หวังว่าจะสำเร็จ

เรื่องนี้ต้องร่วมมือกัน 3 ฝ่าย คือฝ่ายก่อการ ฝ่ายรัฐ และชุมชนในพื้นที่ เมื่อร่วมมือกันความไว้วางใจก็เพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีใครหักหลังใครแนวทางที่วางใจก็จะสำเร็จ ถ้าเราไม่ยึดข้อตกลงก็ไปไม่ได้ ไม่ว่าเรื่องอะไร ต้องทำตามที่พูดเขาถึงจะเชื่อใจเรา

ส่วนมุมมองที่ว่าการพูดคุยไม่สำเร็จเพราะมาราปาตานี ไม่ใช่ตัวจริงนั้น มีการตั้งข้อสังเกตทำนองนี้กันมาก แต่ส่วนตัวไม่ค่อยให้น้ำหนักกับข้อสังเกตนี้ จะตัวจริงหรือไม่จริงก็ซับซ้อนทั้งนั้น ถ้ามีคนบอกว่าตัวแทนในทีมเทคนิคของไทยไม่ใช่ตัวจริงแล้วจะว่าอย่างไร

การพูดคุยใครเขาจะใช้ตัวจริง ยังมีหัวหน้า มีผู้บังคับบัญชาอีกมากมาย เพราะนี้คือตัวแทน ใครเขาจะเอาหัวหน้าใหญ่ไปคุย เขาก็เอาตัวแทนทั้งนั้น ต้องคุยกันตามลำดับก็เป็นลักษณะทั่วไป ถ้าตกลงกันได้แล้วให้เอาหัวหน้าใหญ่ไปคุยก็ว่ากันไป

สำหรับเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้งบฯ จำนวนมากแก้ปัญหานั้น ถ้าใช้งบฯ ไม่รั่วไหลและใช้อย่างประหยัดรอบคอบก็ไม่ต้องวิจารณ์ แต่ถ้าใช้งบฯ อย่างไม่ประหยัด ไม่รอบคอบแบบนี้ก็ต้องวิจารณ์

คนที่บอกว่าใช้งบฯ เยอะก็ต้องบอกว่าใช้ตรงไหนจะได้อุดช่องว่างได้ แต่ก็ลำบากกับข้อวิจารณ์ต่างๆ เพราะขณะนี้ยังไม่มีสภา ถ้าสภาอนุมัติงบฯ กรรมาธิการอาจไปตรวจสอบได้

แต่กรณีนี้ต้องส่งสตง. จเรทหารไปตรวจ ซึ่งก็ไม่รู้จะตรวจได้แค่ไหน ประกอบกับขณะนี้ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล จึงควรเปิดเผยข้อมูลออกมาในระดับหนึ่ง ซึ่งก็ต้องโปร่งใส

การแก้ปัญหาของรัฐบาลมาถูกทางหรือไม่ ถ้าถามเขาก็ต้องบอกว่าถูกทาง ความรุนแรงลดลง แต่เราก็อยากจะเห็นผลการพูดคุย ซึ่งเลื่อนมาหลายครั้งคืบหน้าสักเล็กน้อยก็ยังดี

การพูดคุยต้องมีให้ มีรับ ลดราวาศอก ประชาชนจะได้อุ่นใจหน่อยว่ามาถูกทาง

 

พล.ต.ต.จำรูญ เดชอุดม
ที่ปรึกษามูลนิธิอิสลามภาคใต้

การพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับมาราปาตานีช่วง 2-3 วัน ที่ผ่านมา เป็นการพูดคุยในกลุ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ เป็นการนำทางเรื่องประเด็นก่อน ซึ่งการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยยังกำหนดไม่ได้ในขณะนี้

การพูดคุยมีข้อเสนอให้มีพื้นที่ปลอดภัย เพื่อทดสอบว่ามาราปาตานีจะควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้หรือไม่ รัฐไทยจึงกำหนดเขตทดลอง โดยที่ทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยว่าควรมีพื้นที่ปลอดภัยเพื่อทดสอบว่าสามารถควบคุมพื้นที่ได้จริงหรือไม่

ถือเป็นข้อเสนอที่เห็นตรงกันทั้งสองฝ่ายเรื่องพื้นที่ปลอดภัย แต่ไทยให้กำหนดพื้นที่ว่าจะเอาพื้นที่ใดบ้าง กี่อำเภอ แต่มาราปาตานีเห็นควรกำหนดเงื่อนไขก่อนจะกำหนดพื้นที่ กำหนดวิธีการควบคุม การบริหารจัดการในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร กองกำลังในพื้นที่ควรมีเท่าไร

นอกจากนี้ มาราปัตตานียังเสนอให้ใช้ศักยภาพจากประชาชนในพื้นที่ เช่น นายอำเภอให้เป็นตัวแทนรัฐไทย และผู้นำศาสนาเป็นตัวแทนฝ่ายมาราปาตานี

แต่เงื่อนไขที่ทางมาราปาตานีเสนอมารัฐไทยไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขที่มากเกินไป โดยเฉพาะการกำหนดกองกำลังในพื้นที่ จึงเลื่อนการพูดคุยไปก่อน

การพูดคุยสันติภาพต้องใช้ความอดทนเพราะเพิ่งดำเนินงานมาไม่กี่ปี เรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดปัญหาในการสร้างสันติภาพ ไม่ว่าจะพูดคุยปัญหาของใครในโลกก็เป็นปัญหาแบบนี้ เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่เปราะบาง และต้องแก้ทีละเปลาะ ใช้เวลานานมาก บางแห่งใช้เวลา 30 ปี กว่าจะแก้ปัญหาได้ การพูดคุยต้องสร้างความเชื่อใจว่าการเปิดพื้นที่ปลอดภัยต้องปลอดภัยจริงๆ

ส่วนที่บอกว่าตัวแทนฝ่ายมาราปัตตานี ไม่ใช่ตัวจริงที่มาพูดคุยนั้น ทางบีอาร์เอ็นคิดแบบนี้ จึงมีบางคนที่ไม่ยอมมาพูดคุย จึงไม่ประสบความสำเร็จ จึงเห็นควรพูดคุยในโอกาสต่อไป

ส่วนการใช้งบประมาณแก้ปัญหาในพื้นที่ รู้แค่ว่าใช้ 2.34 แสนล้านบาท ไม่รู้ว่ามากน้อยแค่ไหน บางทีอาจมีความจำเป็น

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ความสงบจะเกิดขึ้นได้ อยู่ที่การดำเนินการทางการเมือง การพูดคุยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น กระบวนการแก้ปัญหาเรื่องความสงบมีความลึกซึ้งกว่าที่เราเห็น

 

ฮาร่า ชินทาโร่
อาจารย์สอนวิชาภาษามาลายู

มีการวิเคราะห์ในกลุ่มนักวิชาการว่าการใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการนั้นมีความหมายทางการเมือง สังเกตได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง

ระดับการใช้ความรุนแรงในบ้านเราไม่เหมือนที่ประเทศอื่น เช่น อิรัก ที่มีกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย หรือกลุ่มไอซิสการใช้ความรุนแรงแต่ละครั้งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลักร้อย จึงค่อนข้างชัดเจนว่าการก่อเหตุนั้นมีความหมายที่แอบแฝงอยู่ในการใช้ความรุนแรง

ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้นตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้จะเห็นว่าการใช้ความรุนแรงในกระบวนการหรือว่าเหตุการณ์ที่มีร่องรอยของกระบวนการอย่างชัดเจน ทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ จ.ยะลา และล่าสุดที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา

มีความถี่ของการก่อเหตุลดน้อยลง แต่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะมีกำลังทำลายล้างมากขึ้น จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดครั้งล่าสุดที่จ.ปัตตานี เห็นได้จากมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการก่อเหตุที่ว่าลดความถี่ แต่เพิ่มกำลังทำลายล้างให้มากขึ้น มีการใช้วัตถุที่ทำลายล้างมากถึงเกือบ 100 กิโลกรัม เป็นจำนวนที่มากและตั้งใจทำร้ายชีวิตเจ้าหน้าที่

ดังนั้น แนวโน้มใหม่ของการก่อเหตุคือ ก่อเหตุความถี่ลดลง เพิ่มกำลังทำลายล้างมากขึ้น และมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นคือต้องการทำร้ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

การตั้งใจก่อเหตุเพื่อหวังทำร้ายเจ้าหน้าที่สาเหตุหนึ่งคงเป็นวิธีการยึดอำนาจของเขา แต่ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นฝีมือของฝ่ายไหน เพราะฝ่ายกระบวนการนั้นมีหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เข้าร่วมพูดคุยเพื่อสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้กับทางการไทย และฝ่ายที่ไม่เข้าร่วม

แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นฝีมือของฝ่ายที่ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยเจรจากับทางการไทย

จึงเป็นไปได้ว่าต้องการแสดงศักยภาพเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของเขาเอง และอาจเป็นไปได้ว่าเขาอยากให้รัฐบาลไทยเจรจากับเขาเองโดยตรง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน