พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพราะติดขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนเวลาที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดสูงสุดภายใน 180 วัน

มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆทั้ง นักวิชาการ นักการเมือง และ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ดังนี้

1.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

จำเป็นต้องมีคำสั่งคสช.เพื่อปลดล็อกพรรคการเมือง ให้สอดคล้องต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ตามกรอบของบทเฉพาะกาล ที่กำหนดหลักเกณฑ์เรื่อง จำนวนสมาชิก สาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ทุนประเดิม ตลอดจนเก็บค่าบำรุงจากสมาชิกพรรค

โดยเฉพาะสำหรับพรรคใหม่ ที่เมื่อไปจดทะเบียนยังกกต.แล้ว จำเป็นต้องมีการเปิดประชุมพรรค คัดเลือกผู้บริหาร วางข้อบังคับพรรค เรื่อยไปจนถึงเรื่องสมาชิก และสาขาพรรค ขณะที่พรรคเก่าก็จำเป็นต้องมีการประชุมด้วยเช่นกัน หากไม่ปลดล็อกในส่วนนี้อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้

เนื่องจากในบทเฉพาะกาลอนุโลมพรรคเก่า ทำให้อาจได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลสมาชิก ข้อบังคับ จำนวนเงินทุนประเดิม ทว่าพรรคใหม่จะต้องเริ่มต้นจากศูนย์

ส่วนรายละเอียดหลักเกณฑ์ 7 ข้อตามมาตรา 141 ที่บังคับให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการตาม จะส่งผลให้พรรคการเมืองสะดุดจนอาจส่งตัวแทนลงเลือกตั้งไม่ได้ ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ส่วนตัวว่า คงไม่น่าเป็นไปได้

เนื่องจากต้องยอมรับว่า พรรคการเมืองมีความต้องการเลือกตั้งสูง ระหว่างการร่างกฎหมายลูก ตั้งแต่ในชั้นคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กรธ.)จนผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)นั้น ทีมงานฝ่ายกฎหมายแต่ละพรรคย่อมติดตามเนื้อหาและเตรียมความพร้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อกฎเกณฑ์มีความชัดเจน จึงเชื่อว่าพรรคการเมืองก็มีความพร้อม

ในกฎหมายพรรค การเมือง สิ่งที่น่าห่วงมากกว่างานเอกสารคือ ระบบไพรมารี่โหวต ที่ยังไม่ชัดเจนในแง่การทำความเข้าใจ กกต. ที่อยู่ในฐานะพี่เลี้ยง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดกติกากลาง เพื่อเป็นหลักและขั้นตอนการดำเนินการแก่ทุกพรรคการเมือง

มิเช่นนั้นกระบวนการทำไพรมารี่ เพื่อส่งรายชื่อผู้สมัครไปยังกกต. จะมีปัญหามาก หากมีการร้องเรียนระหว่างสมาชิกภายในพรรคด้วยกันเอง หรืออาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของพรรคฝ่ายตรงข้าม

เพราะหากถูกร้องเรียนจนส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนหรือหลายคน ลงเลือกตั้งไม่ได้ในบางเขตหรือหลายเขต จะเกิดผล กระทบทันทีกับการนับคะแนนของระบบการเลือกตั้งแบบบัตร ใบเดียว เพื่อหาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ

เรื่อยไปจนถึงการรับรองส.ส.ในสภา ที่มีหน้าที่สำคัญคือ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

2.สดศรี สัตยธรรม

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง

แม้พ.ร.ป.พรรคการเมืองจะอนุญาตให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ แต่ที่ติดขัดคงเป็นในส่วนของประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ที่ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ตามจริงแล้วควรให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองกันได้แล้ว เพราะต้องมีเวลาเตรียมตัวเลือกตั้ง และในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองยังมีข้อกำหนดปลีกย่อยอีกมากมายที่จะต้องศึกษา เช่น ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่แตกต่างจากที่ปรากฏในทะเบียนสมาชิกพรรคการเมืองให้นายทะเบียนทราบภายใน 90 วัน

การห้ามไม่ให้ทำอะไรภายในพรรคเลยเหมือนเป็นการปิดกั้น และยิ่งเป็นการไปกดดันเขาและถ้ากดดันมากๆ จะทำให้เกิดการต่อต้าน จึงควรให้พรรคการเมืองมีโอกาสหายใจได้บ้าง

หากพรรคการเมืองทำอะไรไม่ถูกต้องทางคสช.สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ทั้งการใช้คำสั่งของคสช. หรือมาตรา 44

ในส่วนของรัฐบาลหรือคสช. ถ้าจะจัดตั้งพรรคก็สามารถทำได้ ซึ่งถือว่ารัฐบาลได้เปรียบกว่าพรรคการเมืองอยู่แล้ว โดยเฉพาะการหาเสียงที่ช่วงนี้รัฐบาลได้เปรียบมากจากกรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ICAO)ประกาศปลดธงแดงประเทศไทย และการที่ต่างชาติให้การยอมรับและร่วมพูดคุยด้วย

ฉะนั้นการที่รัฐบาลจะกลัวเสียเปรียบพรรคการเมืองคงไม่น่าเป็นประเด็นที่จะเอามาตั้งกันไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ส่วนประเด็นที่จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ทันเวลาของพรรคการเมืองหากไม่ได้ปลดล็อกคงเป็นเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบตามพ.ร.ป.นี้ภายใน 180 วัน สาขาพรรคมีความสำคัญกับพรรคมากถ้ามีการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ระยะเวลาอาจจะสั้นสำหรับพรรคการเมือง ซึ่งถ้าทำไม่ทันสามารถยื่นขยายเวลาได้ แต่ต้องให้โอกาสไปถึงพรรคขนาดเล็กที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกการทำกิจกรรมการเมืองไม่ควรปลดแค่บางข้อ ทางรัฐบาลควรพูดคุยกับพรรคการเมืองก่อน เพื่อรับฟังความเห็น แต่การปลดล็อกควรให้ผ่านเดือนต.ค.ไปก่อน หลังจากนั้นก็น่าจะเริ่มปลดล็อกได้แล้ว

ถ้าเป็นเดือนพ.ย.ก็น่าจะเหมาะสมดี เพราะถือเป็นการให้โอกาสพรรคการเมืองด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง หรืออาจจะมีการเลื่อนออกไปก็ตาม

แต่ยังดีกว่าที่ไม่ให้เขาได้ทำอะไร กันเลย

3.วิรัตน์ กัลยาศิริ

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์

ทางที่ดีคิดว่า คสช.ควรเร่งปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ อะไรที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และของบ้านเมืองควรอนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินการกิจกรรมพรรคการเมืองได้

แต่กรณีคนที่กระทำผิดกฎหมาย หรืออาศัยโอกาสที่คสช.ปลอดล็อกให้ สร้างความวุ่นวาย ก็เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการเอาคนคิดร้ายกับบ้านเมืองมาลงโทษ เพื่อแยกออกจากสังคมให้ได้โดยเร็ว

เนื่องจากบทเฉพาะกาลของพ.ร.ป.พรรคการเมืองซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 141 ตั้งแต่ (1) ถึง (7) ระบุระยะเวลา เช่น แจ้งเปลี่ยนแปลงสมาชิกที่แตกต่างไปจากที่ปรากฏในทะเบียนพรรค ซึ่งต้องแจ้งให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบภายใน 90 วัน นับแต่พ.ร.ป.พรรคการเมืองประกาศใช้ แต่เมื่อมีคำสั่งคสช.ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ คสช. จึงต้องเข้ามาแก้ปัญหานี้ให้เกิดความชัดเจน

โดยคสช.ควรต้องดูว่ามาตรา 141 ตั้งแต่ (1) ถึง (7) มีข้อใดที่สามารถอนุญาตให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ก็ควรพิจารณาอนุญาตได้เป็นเรื่องๆ ไป หากเห็นว่าเรื่องใดยังมีผลกระทบต่อความมั่นคง ก็ยังไม่อนุญาตในเรื่องนั้นได้ เชื่อว่าพรรคการเมืองที่ดีและนักการเมืองที่ดีคงไม่ฉวยโอกาสสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ที่กำลังดำเนินการ คือพยายามเร่งปรับปรุงฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ ส่วนเรื่องนโยบายพรรค คงดำเนินการเป็นการภายในพรรค โดยมีการพูดคุยกันเท่าที่ทำได้เพราะยังไม่สามารถประชุมสมาชิกพรรคได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ คสช.ควรอนุญาตให้พรรคการเมืองประชุมเพื่อเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และเห็นชอบกับนโยบายพรรคที่ยกร่างขึ้นมาเพื่อเป็นการเตรียมการไว้ให้ทันท่วงที และให้มีเวลามากพอที่จะทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

การประกาศนโยบายให้พี่น้องประชาชนทราบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกรรมการบริหารพรรคหรือการจัดการระบบไพรมารี่โหวต ต้องใช้เวลามากพอสมควร ขณะที่พ.ร.ป. พรรคการเมืองมีกรอบเวลาบังคับอยู่ คสช.จึงต้องพิจารณาในส่วนนี้โดยรอบคอบด้วย

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าที่ไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เพราะรัฐบาลและคสช.ต้องการช่วงชิงความได้เปรียบในการใช้เวลาหาพรรคสำรองหรือตั้งพรรคใหม่ เป็นเรื่องที่พูดกันหนาหู แต่ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ต้องชี้แจงว่าจริงหรือไม่จริงอย่างไร ดีกว่าปล่อยให้เป็นข่าวลือไปเรื่อยๆ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีกับรัฐบาลและคสช.

ส่วนแนวโน้มที่คสช.จะตั้งพรรคหรือไม่นั้น คนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.

4.ชูศักดิ์ ศิรินิล

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

เมื่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรค การเมืองมีผลใช้บังคับแล้ว พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วก็มีสิทธิหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่างๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

ยังมองไม่เห็นเหตุผลที่ คสช.จะยังคง คำสั่งห้ามประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมืองของพรรคการเมือง เพราะการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง มีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว คสช.จึงไม่ควรกังวลว่าจะมีการดำเนินการใดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง

หากรัฐบาลและคสช.จะหาพรรคสำรองหรือจัดตั้งพรรคจริงตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ก็คงไม่มีใครว่า แต่ไม่ควรนำมาเป็นเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่ห้ามพรรคการเมืองอื่นจัดการประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องการทำหน้าที่ตามกฎหมายพรรคการเมือง จะนำมาเล่นเกมทางการเมืองคงไม่เหมาะ

ถ้าใช้เหตุผลดังกล่าวเพื่อถ่วงเวลาทำกิจกรรมของพรรคการเมือง เมื่อถึงตอนเลือกตั้งจะเป็นผลเสียแก่พรรคที่รัฐบาลและคสช. อยู่เบื้องหลังเสียเอง

ในส่วนการดำเนินการของพรรค การเมือง ตามมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (1) – (7) นั้น เห็นว่าทุกเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เช่น การจัดประชุมใหญ่ เพื่อแก้ไขข้อบังคับและเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค ต้องมีองค์ประชุมที่ประกอบด้วยผู้แทนสาขาและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด แต่ด้วยข้อห้ามขณะนี้ ไม่สามารถจัดตั้งสาขา หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ แล้วจะประชุมใหญ่ได้อย่างไร

หรือการจัดทำข้อบังคับพรรคที่กำหนดให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เมื่อไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมือง แล้วจะไปดำเนินการดังกล่าวได้อย่างไร ส่วนเรื่องการเก็บเงินค่าบำรุงพรรค จากสมาชิกก็เป็นเรื่องใหม่ และมิใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการได้ในเวลาอันรวดเร็วเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัญหากับพรรค การเมืองมากที่ คสช.ยังคงคำสั่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอยู่ขณะนี้

นอกจากนี้ การดำเนินการตามมาตรา 141 เป็นเรื่องของกฎหมายบัญญัติ จึงไม่ควรที่ คสช.จะเป็นผู้กำหนดว่าเรื่องใดสมควรให้ทำ เรื่องใดยังไม่สมควรให้ทำ มิฉะนั้นแล้วจะถือว่า คสช.ทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง

โดยหลักการแล้วพ.ร.ป.มีค่าบังคับทางกฎหมายที่สูงกว่าคำสั่งของคสช. ดังนั้น คสช.และรัฐบาลต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ไม่ควรใช้อำนาจออกคำสั่งห้ามหรือยังคงคำสั่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ต่อไป

และเท่าที่ฟังจากการให้ความเห็นของฝ่ายที่มีอำนาจหน้าที่ เกรงว่าจะเข้าใจไม่ ถูกต้อง เช่น บอกว่ายังตรากฎหมายลูกไม่เสร็จหมด จึงยังไม่อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หากรอให้กฎหมายตราเสร็จทั้งหมด สมมติเป็นเดือนก.พ.2561 แปลว่า เรามีเวลาดำเนินการตามกฎหมายใหม่เพียงประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น

เพราะตามกฎหมายต้องดำเนินการต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน คือภายใน เม.ย.2561 จึงอยากให้ทำความเข้าใจเสียใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน