วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันปิยมหาราช ตรงกับวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

แม้พระองค์สวรรคตตั้งแต่เมื่อ 107 ปีมาแล้ว แต่พระราชกรณียกิจยังคงเป็นที่จดจำผ่านกาลเวลา โดยเฉพาะที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย

ทรงประกาศพระราชบัญญัติพิกัดเกษียณ ลูกทาสลูกไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 หรือเมื่อ 143 ปีก่อน และทรงเลิกไพร่ด้วยมาตรการและขั้นตอนทางกฎหมายต่างๆ นับจากปี 2420 หรือ 140 ปีก่อน

เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่สะท้อน ถึงการปรับตัวของประเทศไทยเข้าสู่กระแสโลกตั้งแต่บัดนั้น

ด้วยพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปประเทศไทยให้ทันสมัยทั้งในด้านสังคมและการเมืองการปกครองนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การล่าอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตก

ผลของการเลิกทาสและไพร่ นอกจากทำให้ไทยแสดงถึงความพร้อมในการพัฒนาตนเองแล้ว ยังทำให้การกดขี่คนในสังคมบรรเทาเบาบางลงและเริ่มต้นสู่การสร้างความเท่าเทียมกันของมนุษย์

ดังนั้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นในวาระวันปิยมหาราช จึงเป็นโอกาสที่คนในสังคมจะได้ทบทวนถึงความสำคัญในการปรับตัวให้เท่าทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยเฉพาะในด้านบวกที่จะเป็นผลดีให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น

ในขณะที่ทุกวันนี้ ปัญหาของทาสยุคใหม่หรือการค้ามนุษย์กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความเท่าเทียมของมนุษย์ อีกทั้งยังกลายเป็นเงื่อนไขที่ชาติมหาอำนาจใช้ตัดสินในการคบค้าสมาคมและดำเนินความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ

ดังนั้นนอกจากการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันของหน่วยงานรัฐบาล และความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนด้านเยาวชนและสตรีแล้ว การศึกษาเรียนรู้ของคนในสังคมเพื่อต่อต้านการปฏิบัติตนเองหรือต่อผู้อื่นเยี่ยงทาสและไพร่ก็ควรต้องทำอย่างจริงจัง

โดยเฉพาะการตระหนักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่าองค์พระปิยมหาราชทรงเลิกทาสมาเกินร้อยปีแล้ว วิธีคิดหรือค่านิยมเรื่องทาสจึงไม่ควรมีอีกต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน