ปฏิกิริยาของผู้คนในโซเชี่ยลมีเดียที่แสดงความคิดเห็นต่อภาพของนักเรียนมัธยม ศึกษาตอนปลายถือป้าย “ไทยแลนด์แดนกะลา” ในกิจกรรมส่วนหนึ่งของการแข่งขันฟุตบอลประเพณีนั้น สะท้อนให้เห็นว่าการใช้อารมณ์ในการตัดสินประเด็นและเหตุการณ์ของคนในสังคมออนไลน์นั้นยังมีสูงมาก

คล้ายกับกรณีของนิสิตและนักศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เพียงต้องการแสดงความคิดเห็นต่อบ้านเมือง กลับถูกตำหนิติเตียนราวกับการกระทำความผิดใหญ่หลวง

การใช้ถ้อยคำหยาบคายและแสดงความเกลียดชังต่อเด็ก ดูเหมือนมองข้ามความเป็นเยาวชนของนักเรียนที่ควรได้รับความปรารถนาดีหรือคำติชมด้วยเหตุผล

อีกทั้งยังปิดกั้นโอกาสของเยาวชนที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นที่หลากหลายต่อสังคมของตนเอง

คําว่า “กะลา” ที่ปรากฏในประเด็นนี้ มาจากสุภาษิตไทย “กบในกะลา” มีความหมายถึงผู้ที่สำคัญตนว่ามีความรู้มาก แต่จริงแล้วมีความรู้ในกรอบแคบๆ มีประสบการณ์น้อย เพราะไม่ได้ออกไปเจอกับโลกทรรศน์ภายนอก

เป็นคำที่คนส่วนหนึ่งนิยมใช้เพื่อสะท้อนความเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในด้านใดด้านหนึ่งหรือโดยรวม

กระทั่งเมื่อปรากฏบนป้ายผ้าในงานกิจกรรมของนักเรียน ได้รับคำอธิบายว่าต้องการสื่อถึงระบบการศึกษาของไทยที่ยังไม่ยอมออกรับ สิ่งใหม่เข้ามา

เด็กเพียงแต่หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการสอนการปลูกฝังนักเรียนให้ดีขึ้น และอยากให้เน้นเรื่องจรรยาบรรณการสอนของครู

เมื่อเป้าหมายการแสดงออกของนักเรียนกลุ่มนี้ถูกตีความหมายผิดหรือเข้าใจผิดจนก่อให้เกิดปฏิกิริยาเกรี้ยวกราดหรือตีโพยตีพาย จึงกลายเป็นการวิวาทที่หาสารประโยชน์ไม่ได้

ทั้งที่การแสดงออกหรือการแสดงความคิดเห็นของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ใช้ถ้อยคำหรือกิริยาหยาบคายนั้น สมควรได้รับความเคารพหรือการโต้แย้งอย่างสุภาพ

เพราะเยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องอยู่ในสังคมที่ถูกกำหนดกฎเกณฑ์โดยผู้ใหญ่ของบ้านเมืองใน ขณะนี้ในอนาคตที่ยาวนานกว่า

การปิดกั้นหรือกีดกันเด็กไม่ให้แสดงความเห็นที่แตกต่างออกไปจากกรอบหรือค่านิยมแคบๆ ยิ่งตอกย้ำถึงการสร้างสังคมให้เป็นกะลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน