ปฏิกิริยาบรรดา “นักการเมือง” ที่ออกมาวิพากษ์โครงสร้างการเลือกตั้งตามคำชี้แจงของ “กกต.”

เป็นเหมือน “เพลง” บท “เก่า”

เพราะเป็นเพลงที่พวกเขาเคยประสานเสียงตั้งแต่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ ไม่ว่าชุดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

เป็นบทเพลงอันสะท้อนความต้องการในการสืบทอดอำนาจ

โดยการใช้ “รัฐธรรมนูญ” และกฎหมาย “ลูก”ประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องมือ

แต่ในความเห็น 1 ของ “นักการเมือง”น่ากลัวอย่างยิ่ง

นั่นก็คือ เหมือนกับเป็นวาง “กับดัก” แต่คสช.นั่นแหละจะต้องติด “กับดัก”ตนเอง

 

ไม่ว่าจะฟังความเห็นจาก นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ไม่ว่าจะฟังความเห็นจาก นายนิกร จำนง

ปัญหาจะเกิดหลัง “เลือกตั้ง”

นั่นก็คือ นายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองก็ยาก นายกรัฐมนตรีคนนอกก็ยาก

ไม่เพียงเป็นยาก หากบริหารก็ยาก

ยากเพราะว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาล กลายเป็นฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างมาก

รัฐบาลที่มาจากเสียงข้างน้อยก็ทำอะไรไม่ได้

แค่เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านความเห็นชอบก็ไปไม่เป็นแล้ว หากไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา

ความปั่นป่วน ความวุ่นวายก็จะตามมา

 

กฎหมายลูกอันอนุวัตรไปตาม “รัฐธรรมนูญ”แบบนี้นำไปสู่หนทาง เดียวเท่านั้นในอนาคต

นั่นก็คือ รัฐประหาร

เมื่อเกิดรัฐประหารจะรักษา “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นตัวปัญหาก็คงไม่ดีแน่ เพราะเท่ากับยังรักษาปัญหาเอาไว้

จำเป็นต้องฉีกทิ้งเหมือนรัฐธรรมนูญอื่นๆ

วงจรที่จะตามมาก็เช่นเดียวกับรัฐประหารในอดีต นั่นก็คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันเท่ากับยื้อปัญหาที่ยืดเยื้อมาแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ให้ยาวไปอีก

“กับดัก”อย่างนี้ใครจะ “รับผิดชอบ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน