จากบรรยากาศการเมืองตอนนี้

คนในสังคมส่วนใหญ่อยู่ในอารมณ์ “เชื่อครึ่ง ไม่เชื่อครึ่ง” ว่า

จะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปี 2561 ตามโรดแม็ปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ประกาศไว้หรือไม่ แม้ในส่วนของครึ่งที่ไม่เชื่ออาจมีน้ำหนักมากกว่าก็ตาม

สำหรับครึ่งที่เชื่อก็ไม่เกี่ยวกับว่า เป็นเพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้นำชายชาติทหาร พูดคำไหนคำนั้น แต่เป็นเพราะองค์ประกอบอื่น อย่างเช่น

การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ดำเนินการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก ทั้งในหมวดองค์กรอิสระ และในหมวดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวม 10 ฉบับ เสร็จสิ้นทันตามกำหนดเวลา 240 วันหลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้เป็นทางการเมื่อ 6 เมษายน 2560

กฎหมายลูกบางฉบับประกาศไปแล้ว บางฉบับอยู่ระหว่างรอประกาศใช้ เหลือ 2 ฉบับสุดท้ายในหมวดเลือกตั้ง ได้แก่ ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.

ที่ล่าสุดผ่านการพิจารณารับหลักการวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว อยู่ระหว่างตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาวาระ 2 โดยคาดว่าจะผ่านวาระ 3 ประมาณกลางเดือนมกราคม จากนั้นใช้เวลา 30 วันส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กรธ.พิจารณา ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ

คาดว่าทุกขั้นตอนจนถึงประกาศใช้ จะอย่างไรก็ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2561 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดไว้ว่าจะเป็นห้วงเวลาความชัดเจน ว่าจะจัดเลือกตั้งวันที่เท่าไรในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามกรอบเวลา 150 วันหลังกฎหมายลูกมีผลใช้บังคับ ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การออกข่าวว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนในบางส่วน แม้จะถูกมองว่าเป็นการเช็กคะแนนเสียงล่วงหน้า ก่อนลงทำศึกใหญ่ในสนามระดับชาติ

แต่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ทำให้คนคิดไปได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นแน่นอน

ขณะเดียวกัน กกต.ยังได้ออกประกาศและระเบียบ 8 ฉบับ เพื่อรองรับกฎหมายพรรค การเมืองเป็นที่เรียบร้อย มีผลเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา

สอดรับกับกระแสการทยอยเปิดตัวพรรค การเมืองที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่ ไม่ว่าพรรคที่เสนอตัวเป็น “ทางเลือก” ใหม่ให้ประชาชน หรือพรรค “นอมินี” เครือข่ายอำนาจปัจจุบัน เช่น พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังชาติไทย เป็นต้น

ประกอบกับล่าสุดคณะกรรมการสรรหาคัดเลือกบุคคลสมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต.ชุดใหม่ 5 คน บวกอีก 2 คนในโควตาที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เท่ากับตอนนี้ได้ว่าที่กกต.ใหม่ครบทั้ง 7 คน เตรียมส่งให้ สนช.ประทับตราเห็นชอบ

ว่าที่ กกต. 5 คนในส่วนคณะกรรมการสรรหา ได้แก่ นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์, นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ที่ปรึกษากฎหมาย และหัวหน้าสำนักงานกฎหมายเอกชน และนายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้ว่าฯ หลายจังหวัด

อีก 2 คนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา คือ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา กับ นายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

นอกจากเรื่อง “สเป๊กเทพ” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ การมีผู้ได้รับการสรรหาบางคนเคยเป็นข้าราชการทำงานคลุกคลีใกล้ชิดกับ “บิ๊กรัฐมนตรี” กระทรวงใหญ่ ยังทำให้ตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายการเมือง

รวมถึงการที่ตัวแทนภาคประชาสังคม หรือบุคคลที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้งมาก่อน ไม่ได้รับการสรรหา เนื่องจากไม่ผ่านคุณสมบัติ “ขั้นเทพ”

ก็ถือเป็นจุดอ่อนที่หลายฝ่ายเป็นห่วง เนื่องจาก กกต.ชุดใหม่ต้องเข้ามาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งครั้งแรกช่วงเปลี่ยนผ่าน

ภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ทั้งยุ่งยากและสลับซับซ้อน

แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วจะโดนใจใคร ไม่โดนใจใครก็คงต้องปล่อยผ่าน พร้อมให้โอกาส 7 เสือ ทำหน้าที่ลบล้างข้อครหา คิดในแง่ดีอย่างน้อยการได้ว่าที่ กกต.ชุดใหม่ก็ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกว่า

การจัดเลือกตั้งคืบหน้าไปอีกขั้น

กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง

สังคมไทยยังวนเวียนอยู่กับคำถามเมื่อไหร่ คสช.จะ “ปลดล็อก” คำสั่งห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมและเคลื่อนไหวทำกิจกรรม ทั้งที่เวลาได้ผ่านมาถึง 2 เดือนเต็ม หลังกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้เมื่อ 8 ตุลาคม

การที่จู่ๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจค้นเจออาวุธสงครามจำนวนมาก ทิ้งไว้ในบ่อน้ำกลางทุ่งนา ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา แล้วโยงไปถึงกลุ่มเสื้อแดงฮาร์ดคอร์กับเหตุ การณ์ระเบิดป่วนเมืองช่วงการชุมนุม ปี 2557 ในหลายคดี

จากนั้นได้มีการเสนอต่อศาลอนุมัติหมายจับผู้เกี่ยวข้อง 5 คน ในจำนวนนั้นมี นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำ นปช.คน เสื้อแดง กับ พล.ท.มนัส เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 อยู่ด้วย

กลายเป็นประเด็น “เรียกแขก” พรรคการเมือง

มองว่าฝ่ายอำนาจรัฐจงใจปั่นสถานการณ์ ให้เห็นว่าบ้านเมือง ไม่สงบเรียบร้อย เพื่อใช้เป็นข้ออ้าง “ยื้อปลดล็อก”

ไม่ใช่การอ่านเกมลอยๆ แต่สอดรับ กับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ว่าถ้าหากเหตุการณ์ยังเป็นแบบนี้

อาจต้องปลดล็อกช่วงใกล้เลือกตั้ง

บางพรรคการเมืองหงุดหงิด ไม่รู้เหตุผลทำไม คสช.ถึงยังไม่ปลดล็อก จริงอยู่ถึงแม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นายกฯ มีมาตรา 44 อยู่ในมือที่ใช้แก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ในพริบตา

แต่การยื้อล็อกไว้อย่างไม่สมเหตุสมผล ทั้งที่กฎหมายรองรับการเลือกตั้งได้เดินหน้ามาไกล ไม่ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง แม้กระทั่งประกาศระเบียบ กกต.ก็บังคับใช้แล้ว

อีกทั้ง คสช.ยังได้เปรียบพรรค การเมืองทุกประตู ไม่ว่าจากการออกแบบระบบเลือกตั้งส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ส.ว.ลากตั้งมีอำนาจเลือกนายกฯ “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็นส.ส.

ดังนั้น การยังห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมตามกฎหมาย จึงมองเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากมีเจตนาทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ อาจถึงขั้นถูกตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้งไปจนถึงถูกยุบพรรค

นักการเมืองบางคนฟันธง ตามรูปเกม คสช.ต้องการอยู่รักษาอำนาจไว้ให้ได้นานที่สุด

อย่างน้อยจนกว่ามั่นใจได้ว่าตนเองจะลงจากหลังเสือได้อย่างปลอดภัย หรือรู้ชัดว่าจะขี่หลังเสือต่อด้วยวิธีไหน ทั้งหมดนำมาสู่สัญญาณที่ว่าการเลือกตั้งต้อง “ดีเลย์” แน่นอน

กว่า “7 เสือ” กกต.จะได้แสดงฝีไม้ลายมือ ยังไม่รู้เมื่อไหร่

ทั้งมีความเป็นไปได้มากว่า เรื่องประสบการณ์การเมืองและการจัดการเลือกตั้งที่เป็นจุดอ่อนของ กกต.ชุดใหม่

อาจยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นในระยะ 1-2 ปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน