เรื่องน่ายินดีของประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นกรณีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ มายาวนาน 10 ปี นับจากปี 2550 มาเป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL)

การปรับสถานะให้ดีขึ้นนี้ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าจะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น ด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ

นอกจากนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สหรัฐพิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีแก่ไทย

การปรับสถานะดังกล่าวเป็นผลมาจาก การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สิน ทางปัญญา

มีการจัดตั้งศูนย์ปราบปราม การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อออกตรวจตราจับกุม ใน 5 ย่านการค้าสำคัญทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ที่สำคัญคือเกิดโมเดลการทำภารกิจร่วมกันของ ทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. กรมศุลกากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ไปจนถึง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทหารทั้งสามเหล่าทัพ

โมเดลการทำงานร่วมกันดังกล่าวนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์กับภารกิจสำคัญอื่นๆ ของประเทศ

เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐ ได้แก่ รายการสถานการณ์การปราบปรามการ ค้ามนุษย์ ที่ยังอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ต้องจับตา

รวมถึงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี ที่ระบุว่ายังไม่สามารถฟื้นประชาธิปไตยและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามที่ให้คำมั่นกับสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ โดยยังคงมี ข้อจำกัดด้านเสรีภาพของพลเมือง

เมื่อมีรูปแบบความสำเร็จด้านทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว จึงน่าจะใช้ในด้านสิทธิเสรีภาพทางการเมืองด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน