แนวคิดที่เสนอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แก้ไขประกาศกำหนดวงเงินห้ามเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการรับและให้ทรัพย์หรือประโยชน์อื่นใดมูลค่าเกิน 3,000 บาทนั้นมีเหตุผลประกอบมาว่า วงเงินดังกล่าวกำหนดอยู่ในประกาศ ป.ป.ช.ปี 2542 ซึ่งล่วงเวลามานานแล้ว จึงน่าจะขยับให้เป็นไปตามค่าครองชีพปัจจุบัน

กลายเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าควรจะต้องแก้ไขหรือไม่

เพราะหากเป็นไปตามค่าครองชีพปัจจุบัน หมายความว่าวงเงินน่าจะสูงขึ้น

แต่การที่วงเงินสูงขึ้นเป็นประโยชน์หรือโทษต่อกฎระเบียบที่ตั้งไว้อย่างไร น่าจะหาคำตอบได้ไม่ยากเย็นนัก

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) แสดงความเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะสวนทางกับความต้องการให้ข้าราชการหลีกเลี่ยงการรับสิ่งของจากบุคคลอื่นนอกเหนือจากผลประโยชน์จากรัฐบาล

อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่ไปคนละทิศทางเมื่อเทียบกับนานาประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกากำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐรับสิ่งของที่มีมูลค่าไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,000 กว่าบาท

หากประเทศไทยเดินหน้าปรับจำนวนเงินตามค่าครองชีพ อาจทำให้เกิดช่องโหว่อย่างมากที่เอื้อต่อการเรียกรับผลประโยชน์มากขึ้นในอนาคต

ดังนั้นเพื่อป้องกันความคลางแคลงใจในเรื่องความบริสุทธิ์ จึงควรทำให้ข้าราชการตระหนักเสมอว่าอะไรที่ตัวเองมีสิทธิพึงได้รับ

เป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการกำหนดวงเงิน

นอกจากหลักการหลีกเลี่ยงการรับผลประโยชน์แล้ว สิ่งที่ป.ป.ช.รวมถึงคณะ ผู้ทำงานด้านกฎหมายต้องตระหนักให้รอบคอบคือการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานราชการตรวจสอบและให้อนุญาตกับประชาชนในการดำเนินธุรกิจ

เพราะอาจเสี่ยงเป็นช่องทางของการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบ ด้วยข้ออ้างว่าเป็นค่าอำนวยความสะดวก

หนทางการป้องกันการทุจริตนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ต้องรับฟังความเห็นและประสบการณ์จากประชาชน

การคิดแก้ไขกฎระเบียบโดยไม่ได้มาจากข้อเรียกร้องของประชาชนนั้นเสี่ยงที่จะถูกมองว่า ทำเพื่อคณะบุคคลและไม่เป็นผลดีต่อการต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน